การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซียยูเครน ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและอีกปัจจัยมากมายที่เกิดขึ้นตอนนี้ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยทั่วโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Meta (Facebook), Twitter, Amazon ฯลฯ ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลงเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ล่าสุดในวันที่ 19 มกราคม 2023 ทาง Microsoft ก็พิจารณาลดจำนวนพนักงานกว่า 11,000 ตำแหน่ง สร้างความกังวลให้คนทำงานทั่วโลก

มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ข่าวเรื่องการปลดพนักงานของบริษัทต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจมนุษย์เงินเดือนอย่างเราทุกคนด้วย (เพราะที่จริงไม่ใช่แค่บริษัทในต่างประเทศเท่านั้นที่ปลดพนักงาน บ้านเราก็มีข่าวไปเยอะเหมือนกันในช่วงก่อน ยกตัวอย่างที่ชัด ๆ ก็มี Shopee หรือ JSL)

แม้เราจะเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นไปตามกลไกของตลาด ธุรกิจมีขึ้นมีลง แต่สำหรับพนักงานการถูกเลิกจ้างนั้นก็เป็นปัญหาใหญ่ ภาระต่าง ๆ ที่มีอยู่ต้องทำยังไง ถูกเลิกจ้างแล้วจะหางานได้ไหม จะได้รับเงินชดเชยรึเปล่า? มันกลายเป็นคำถามเต็มไปหมดเลย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การวิตกกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือหาความรู้ใส่ตัวเอาไว้ก่อน เปลี่ยนความกังวลเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นดีกว่า วันนี้มาหาคำตอบกันว่า เมื่อต้องถูกเลิกจ้างแบบฟ้าผ่า พนักงานอย่างเรา ทำอะไรได้บ้าง

เตรียมตัวรับมือ

สิ่งสำคัญที่ใช้รับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การมีเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึง เงินสำรองที่เตรียมเผื่อใช้กรณีฉุกเฉิน เช่น ตกงาน หรือขาดรายได้ เป็นเงินที่มีสภาพคล่องสูง ง่ายต่อการนำมาใช้ อาจอยู่ในบัญชีเงินฝาก สามารถถอนออกมาได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

โดยเงินสำรองกรณีฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 6-12 เดือน คำนวณจากค่าใช้จ่ายจำเป็นต่อเดือนของแต่ละคน เช่น ปกติใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองกรณีฉุกเฉินประมาณ 120,000-240,000 บาท เป็นต้น
หากใครยังไม่มีหรือมีไม่พอ ก็เริ่มเก็บตอนนี้เลย นี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก

ทำอย่างไรเมื่อถูกเลิกจ้าง?

สถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต ดังนั้นสติและกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก พยายามจัดการสภาวะอารมณ์และจิตใจให้ได้ ไม่ตื่นตระหนกหรือกังวลมากเกินไป เพราะยังพอมีเวลาจะหาหนทางแก้ไข

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ เราอาจจะสับสนหรือทำตัวไม่ถูกได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคืออย่าโกรธหรือโทษตัวเองว่าทำงานไม่ดีจึงโดนปลด ในหลาย ๆ กรณี มันเป็นเพียงกลไกของบริษัทที่พยายามรัดเข็มขัด และงานของคุณไปอยู่ในส่วนที่ไม่ได้เป็นแผนที่บริษัทวางเอาไว้ เพราะฉะนั้นการถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยคุณไม่มีอำนาจที่จะควบคุมมันเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้ต้องอย่าซ้ำเติมแผลของตัวเองให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม

การจัดการควรเริ่มจาก

ตรวจสอบเงินและทรัพย์สิน

ว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ หากมีเงินสำรองกรณีฉุกเฉินก็พอเบาใจขึ้นบ้าง หากไม่มีหรือมีไม่มาก ก็ลองคำนวณว่ามีเพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้นานแค่ไหน เอามากางดูเลยเพื่อให้วางแผนอนาคตได้ถูก

สื่อสารกับคนในครอบครัว

การพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญ หากขาดรายได้หรือถูกเลิกจ้าง จำเป็นต้องบอกคนที่บ้านหรือคนที่ต้องดูแลเพื่อช่วยกันปรับแผนการใช้จ่ายภายในครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือช่วยกันคิดหารายได้เพิ่มเติม ปรึกษากันว่า ใครทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้าง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ให้กำลังใจกันและกัน (สำคัญมาก ๆ อย่าซ้ำเติมกัน)

สิทธิตามกฎหมาย

เมื่อจัดการจิตใจตนเอง ตั้งสติได้แล้ว เรื่องที่ต้องทำต่อมาคือ ตรวจสอบสิทธิทางกฎหมายว่าเรามีสิทธิ์ได้รับการชดเชยอะไรบ้าง โดยสิ่งที่ลูกจ้างเรียกร้องหรือจะได้เมื่อถูกเลิกจ้างมีดังนี้

1. เงินชดเชยจากนายจ้าง

เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายที่นายจ้างต้องชดเชยให้ลูกจ้างกรณีให้ออกจากงานด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของตัวพนักงาน โดยเงินชดเชยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

-ค่าตกใจ เป็นเงินชดเชยกรณีพนักงานถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า หรือบอกล่วงหน้า 30-60 วัน โดยนายจ้างต้องจ่ายชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าเท่ากับอัตราจ้างสุดท้าย 30 วัน และจ่ายเท่ากับอัตราจ้าง 60 วันกรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

-เงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง กฎหมายกำหนดว่า หากให้ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่สมัครใจ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยดังนี้

ทำงานไม่ถึง 120 วัน นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยได้
ทำงาน 120 วัน - 1 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย
ทำงาน 1 - 3 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย
ทำงาน 3 - 6 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย
ทำงาน 6 - 10 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย
ทำงาน 10 - 20 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย
ทำงาน 20 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย

2. ชดเชยว่างงานจากประกันสังคม

หากลูกจ้างมีการทำประกันสังคมโดยจ่ายเงินสมทบมากกว่า 6 เดือน ก็สามารถรับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง โดยต้องไปขึ้นทะเบียนคนว่างงานภายใน 30 วันนับตั้งแต่ออกจากงาน และรับเงินชดเชย 50% ของรายได้ (ฐานเงินเดือนจะคิดให้ไม่เกิน 15,000 บาท) เป็นระยะเวลาถึง 6 เดือน (สอบถามเพิ่มเติมโทร. 1506)

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD)

หากบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ก็สามารถเบิกออกมาทั้งก้อนเพื่อนำไปใช้จ่ายได้ (มีการหักภาษี) แต่ก็สามารถคงเงินไว้ในกองทุนได้หากต้องการใช้ตอนเกษียณ (แต่จะไม่ได้รับการสมทบจากนายจ้างเดิม) หรือสามารถย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งจะต้องเป็น RMF for PVD เพื่อรับผลประโยชน์อื่น ๆ และไม่ต้องเสียภาษี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในส่วนอ้างอิง)

4. สิทธิประโยชน์อื่น ๆ

บางบริษัทอาจมีการยกหุ้นให้ลูกจ้างขณะที่ทำงาน ซึ่งลูกจ้างสามารถขายหุ้นที่มีเพื่อรับเป็นเงินไปใช้ตามความจำเป็นได้

เจรจาหนี้สิน

หลังจากตรวจสอบสิทธิและเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ เรื่องต่อมาที่ต้องจัดการคือหนี้สิน หากคำนวณเงินที่มีแล้วพบว่าไม่พอจะชำระได้ตามปกติ ควรรีบเข้าไปพบเจ้าหนี้ทันที หากเป็นญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ก็บอกก็ขอกันตามตรง กำหนดระยะเวลาให้แน่ชัดแล้วจัดการตามคำสัญญาที่ให้ไว้ ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ก็เข้าไปเจรจาประนอมหนี้, ขอพักการจ่าย 6-12 เดือน หรือเจรจาจ่ายตามความสามารถ (แต่ต้องคำนวณตัวเลขให้ชัดเจน ไม่เกิดเป็นภาระมากขึ้นในระยะยาว) เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้ และเป็นการรักษาเครดิตทางการเงินไว้ด้วย

หารายได้เสริม

การหางานใหม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ระหว่างการรอสัมภาษณ์หรือรอเรียกทำงานใหม่นั้น จะไม่มีรายได้เข้ามา ลองพิจารณาหารายได้ทางอื่นเพิ่มเติมด้วย อาจเป็นงานพิเศษที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย หรือใช้ทักษะที่มี เช่น หากเป็นนักบัญชีก็รับทำบัญชีแบบฟรีแลนซ์, มีทักษะภาษาก็อาจรับสอนพิเศษเด็กนักเรียน, ทำอาหารเป็นก็เปิดรับออเดอร์ส่งตามที่ต่าง ๆ ในช่วงเช้าหรือพักเที่ยง เป็นต้น เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้มีรายได้เข้ามาบ้างระหว่างรองานใหม่ แต่ในหลายกรณีก็พบว่า อาชีพเสริมเหล่านี้สร้างรายได้จนกลายเป็นงานหลักเลยก็มี

ในช่วงชีวิตของทุกคนจะมีทั้งดีและน่าปวดหัว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือมีแผนรับมือที่ชัดเจน มีเงินออม เงินสำรองไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงินขึ้นจะได้มีเวลาในการวางแผนจัดการได้มากขึ้น รวมถึงต้องคอยพัฒนาทักษะการทำงานให้มากขึ้นอยู่เสมอ สร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง เรียนรู้เสริมเพิ่มเติมให้ตัวเองเหมาะกับตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่มีบริษัทไหนอยากเสียคนเก่งไป
หรือถ้าเกิดตกงานเมื่อไหร่ ก็สมัครงานใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย