เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) หนึ่งในนักลงทุนเน้นคุณค่าในตำนานเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ในระยะสั้นตลาดหุ้นคือเครื่องโหวตลงคะแนน แต่ในระยะยาวแล้วมันคือเครื่องชั่งน้ำหนัก”

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าในระยะสั้นราคาหุ้นจะผันผวนขึ้นลงตามอารมณ์ความรู้สึกของตลาด ความโลภ/ความกลัว ราคาอาจจะสูงเว่อร์ พุ่ง 10 เด้งภายในเวลาไม่กี่เดือน หรือต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรสนับสนุนเลย

เรียกว่าขึ้นลงตาม ‘สตอรี่’ และข่าวที่ถูกโหมโดยคนที่มีชื่อเสียง หรือ คนที่พยายามดันราคาหุ้นไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ

กลายเป็น ‘ไฮป์’ (Hype) ที่ดึงคนเข้ามาร่วมวง หวังรวยไปด้วยกับกระแสนี้ แต่พอถึงจุดหนึ่งคนที่ถือหุ้นนั้นมาก่อน เห็นตัวเลขกำไรเป็นที่น่าพอใจ ก็เริ่มปล่อยขายหุ้นที่ถือเอาไว้ ทิ้งคนที่ไม่ทันรู้ตัว หรือคนที่เข้ามาทีหลังให้ ‘จ่ายรอบวง’ ขาดทุนกันไป

ในระยะยาว หลังจากที่ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ผลประกอบการและคุณภาพของหุ้นต่างหากที่จะกลายเป็นตัวกำหนดราคาของหุ้นตัวนั้นๆ

Game Stop

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2021 ข่าวหุ้น GameStop กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกของการลงทุน

เพราะมันถูกดันราคาจากเพียงแค่ประมาณ 1-2 เหรียญ/หุ้นในช่วงปลายปี 2020 พุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 86.88 เหรียญ/หุ้นช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 หรือขึ้นมาราวๆ 3,000% ภายในเวลาแค่ 3 เดือนเท่านั้น (ราคาหลังแตกพาร์ปี 2022 แล้ว)

แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ หุ้นก็ร่วงลงมาเกือบ 90% จากจุดสูงสุด

เอาง่ายๆ ถ้าคุณซื้อหุ้น GameStop 1,000,000 บาท ในวันที่ 27 มกราคม 2021 ผ่านมาสองอาทิตย์ มูลค่าหุ้นนั้นจะหายไปเกือบ 900,000 บาทเลยทีเดียว

แม้ว่าด้วยมูลค่าของมันที่เล็กน้อยเพียง 0.06% ของตลาดหุ้นในอเมริกา (ตอนที่ราคาถูกดันขึ้นไปสูงๆ) แต่สิ่งที่คนสนใจคือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลัง

นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกของเหตุผล เพราะตัวของบริษัท GameStop เองเป็นร้านขายวิดีโอเกมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป แนวโน้มของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป คนเล่นเกมออนไลน์มากขึ้นหรือซื้อสินค้าจากเว็บใหญ่ๆ อย่าง Amazon หรือ Best Buy ทำให้บริษัท GameStop กำลังร่อแร่พอสมควร

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงก่อนเหตุการณ์นี้ กองทุนเลยเข้าไปทำการ ‘ชอร์ตเซล’ (short sell) หรือการยืมหุ้นของคนที่ถืออยู่มาขาย พูดง่ายๆ คือถ้าหุ้นร่วงกองทุนเหล่านี้ก็ทำกำไรได้มากมายนั่นเอง

แต่กลับกันถ้าเกิดว่าหุ้นขึ้น คนที่ชอร์ตเซลก็จะขาดทุน แต่ตอนนั้นมีแต่คนชอร์ตกันเยอะมาก ทำให้หุ้นมี Free Float ต่ำ (ปริมาณการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดของหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง) ใครควบคุมหุ้นเหล่านี้ได้ก็สามารถควบคุมทิศทางได้

ในเว็บบอร์ด Reddit ห้อง WallStreetBets (คล้ายๆ พันทิปบ้านเรา) เริ่มมีการพูดคุยกันเรื่องนี้และรวมตัวกันเก็บหุ้น GameStop เข้าพอร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีสตอรี่เข้ามาว่าหุ้นจะพลิก มีโอกาสเติบโตอีกครั้ง ฯลฯ (สตอรี่ดีๆ ที่ทำให้รายย่อยตาลุกวาว) รายย่อยก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซื้อตามๆ กันมา

ทีนี้พอราคามันไต่ขึ้น พวกกองทุนที่ชอร์ตเซลอยู่ก็เริ่มขาดทุน และด้วยความที่เป็นกองทุน ถ้าขาดทุนก็ต้องตัดด้วยการปิดสถานะชอร์ต ซึ่งก็คือการซื้อหุ้นกลับคืนจากตลาด เกิดแรงหนุนให้ราคาขยับขึ้นไปอีก

ทีนี้แหละครับได้เรื่องเลย ราคาดีดพุ่งทะยาน เพราะคนที่ชอร์ตเอาไว้ต้องซื้อหุ้นคืนเพื่อปิดสถานะกันเรื่อยๆ กลายเป็นหุ้นในกระแสอันร้อนแรง คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นตัวนี้ก็หันมาสนใจ ขอเข้ามาร่วมวงด้วย เห็นคนอื่นรวยเอาๆ มันอยู่เฉยไม่ได้

แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก หุ้นเด้งเอาๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอไปแตะจุดสูงสุด คนเริ่มปล่อยของใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้นที่ราคาร่วงกรูดลงมาแตะพื้นเกือบ 90%

ใครออกทัน คนที่รวยก็รวยไป ส่วนคนที่เข้าทีหลังก็จ่ายรอบวง ติดดอยกันไปตามระเบียบ

หลายคนกลายเป็นมหาเศรษฐี ส่วนอีกหลายคน...เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอย่างยากลำบากหายไปในพริบตา บางคนซ้ำร้ายกว่า ไปกู้เงินมาลงอันนี้เรียกว่าลำบากยกกำลังสอง

Pump and Dump

The New York Times เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นกลยุทธ์ “Pump & Dump” (ดันแล้วทุบ) ที่นักลงทุนหรือกลุ่มของนักลงทุนดันราคาหุ้นขึ้นไป ด้วยการกระจายข่าวลือ ข้อมูลเท็จ ให้นักลงทุนรายย่อยที่ใสซื่อมารับซื้อในราคาที่ตัวเองต้องการ เมื่อได้กำไรแล้วก็ทยอยขายออกไปเรื่อยๆ เหลือแค่คนที่เข้ามาทีหลังนี่แหละที่ยังถือหุ้นเหล่านั้นเอาไว้

เรียกว่าเป็นหลุมพรางการปั่นราคา เอาเม่าไปเชือดที่ปลายดอยก็คงได้

แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ยากที่จะพิสูจน์ถึง ‘เจตนารมณ์’ ของคนที่ปั่นหุ้นจริงๆ

แต่ก็มีบางกรณีที่เอาผิดได้อย่างตอนที่ คิม คาร์ดาเชียน (Kim Kardashian) ที่ถูกปรับเงินเกือบ 50 ล้านบาท เพื่อโปรโมตเหรียญคริปโท “EthereumMax” โดยไม่แจ้งว่าเป็นการโฆษณา และตัวเหรียญเองก็เป็นกรณีดันแล้วทุบเช่นเดียวกัน

มีคนมองว่ากรณี GameStop คือเป็นสงครามคนตัวเล็ก (หรือนักลงทุนรายย่อย) ที่รวมตัวกันสามารถเอาชนะกองทุนหรือเจ้าใหญ่ๆ ที่มีเงินเยอะมากมายได้ แต่ก็อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคนที่เจ็บไม่ใช่แค่เจ้าใหญ่ ยังมีนักลงทุนทั่วไปรายย่อยที่หลงเข้ามาเพราะเจอกระแสชักจูง ความโลภครอบงำ ให้สูญเสียเงินไปจำนวนมาก และเอาผิดใครก็ไม่ได้

มันอาจจะดูใจร้ายสักหน่อย แต่ต้องเข้าใจว่านี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในทุกตลาด (บ้านเราก็เห็นกรณี ‘Pump and Dump’ ลากเม่าไปเชือดกันอยู่ไม่น้อย) ตราบใดที่มีความโลภและความกลัวของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และแน่นอนไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

สรุป

บทเรียนสำคัญจากเรื่องนี้คืออะไร? สำหรับนักลงทุนรายย่อยแล้วจำเอาไว้เสมอว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งตามเข้าซื้อหุ้นร้อนในตลาดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเป็นนักลงทุน

ดูตัวอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่เลือกจะไม่ลงทุนในหุ้นอย่าง Google หรือ Amazon เมื่อมีโอกาสในช่วงแรกที่ธุรกิจกำลังจะเริ่มต้น เพราะรู้สึกว่าธุรกิจของทั้งสองบริษัทไม่ได้อยู่ในขอบเขตความรู้ของเขา (Circle of Competence) และเขาจะไม่ลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้เลือกหรือเข้าใจธุรกิจเด็ดขาด

เพราะฉะนั้นเวลาเจอหุ้นไหนที่กำลังพุ่งแรงๆ วันหนึ่งขึ้นที 20%-30% จงระวัง ทางที่ดีอย่าไปยุ่งน่าจะดีกว่า เพราะตอนเข้ามีแต่คนชวน แต่ตอนออกดันไม่มีใครบอกใคร เหลือเราดอยอยู่คนเดียว อันนี้ลำบากเลย