ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินยังเข้มงวด ส่งผลให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกผันผวน นักลงทุนจึงจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็วางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต โดยการพอร์ตลงทุนนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงและรักษาผลตอบแทน ยังรวมถึงการเลือกสินทรัพย์ลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวด้วย โดยหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การลงทุนอย่างยั่งยืน

การลงทุนโดยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานทางการเงิน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านการลงทุน พร้อมๆ กับการส่งเสริมให้พอร์ตลงทุน มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว

เมื่อลงทุนโดยคำนึงปัจจัยด้าน ESG นักลงทุนจะเห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การปรับตัว และการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ว่าจะสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคตได้หรือไม่

ในสถานการณ์การลงทุนที่มีความไม่แน่นอน หากต้องการลดความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตและลงทุนอย่างยั่งยืน ก็มีธีมการลงทุนให้เลือกหลากหลาย และควรกระจายการลงทุนให้เหมาะสม และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

จากการคาดการณ์ของ International Energy Agency พบว่าพลังงานหมุนเวียนจะมาเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนที่ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2025 และคิดเป็น 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมด โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลงถึง 82% โดยมองว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมจะลดลง 40 – 50% ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากเทคโนโลยีการแข่งขันและการประหยัดจากขนาดการผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้โรงไฟฟ้าในยุโรปมีเสถียรภาพและงบดุลแข็งแรงที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุด

พลังงานทดแทน คือ พลังงานที่ใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกำลังจะหมดไปในอนาคต ขณะเดียวกันพลังงานแบบเดิมยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน

พูดง่ายๆ พลังงานทดแทนเป็นพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติและสามารถใช้ทดแทนพลังงานเดิมได้อย่างไม่จำกัด โดยพลังงานทดแทนที่สำคัญและมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานและช่วยลดปัญหามลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับตัวอย่างธีมการลงทุนในพลังงานทดแทน มีดังนี้

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

เป็นธีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพสูง ส่วนในมุมธุรกิจ หลายบริษัทก็สามารถขยายขนาดของการลงทุนได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีอุตสาหกรรมปลายน้ำที่หลากหลาย ขณะที่ธุรกิจหลัก อย่างการผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ก็คาดว่าจะก้าวขึ้นมามากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2050 โดยธุรกิจที่ลงทุนจะประกอบไปด้วย ผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบ Invertor แบตเตอรี่ หรือระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์

พลังงานลม (Wind Energy)

ถือเป็นธีมการลงทุนที่โดดเด่นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงมีเงินลงทุนจากภาครัฐเข้ามาช่วยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยธีมนี้จะลงทุนในบริษัททั่วโลกที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมพลังงานลม รวมถึงระบบการผลิตและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีความเจาะจงไปยังภูมิภาคที่มีพื้นที่เฉพาะขนาดใหญ่เป็นหลัก

พลังงานน้ำ (Water Energy)

เป็นธีมการลงทุนที่มีความหลากหลายที่สุดในเชิงธุรกิจ เพราะนอกจากธุรกิจการผลิตพลังงานจากน้ำ ยังรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย เช่น บริษัทสาธารณูปโภคด้านชลประทาน การก่อสร้างท่อระบายน้ำ ท่อส่งน้ำ หรือการทำน้ำให้บริสุทธิ์ โดยน้ำเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตมากที่สุดในปัจจุบัน คิดเป็นราว 7% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้จึงมีเสถียรภาพสูงและมีความผันผวนต่ำกว่าพลังงานสะอาดอื่นๆ

การจัดการของเสีย (Waste Management) 

เป็นธีมการลงทุนที่เปลี่ยนสิ่งสกปรกให้เป็นพลังงานสะอาด จึงมีความซับซ้อนและหลากหลายมากที่สุด แม้ในฝั่งของเทคโนโลยีด้านพลังงานจะไม่โดดเด่นมาก เพราะมักใช้ Biomass หรือของเสียสร้างความร้อน แต่ธีมนี้จะประกอบไปด้วยการลงทุนในธุรกิจบริการที่หลากหลาย เช่น การรวบรวม ถ่ายโอน กำจัดของเสีย รีไซเคิล ไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จึงมักมี Margin ของธุรกิจที่สูงกว่าธีมพลังงานสะอาดอื่นๆ

จากข้อมูล Renewable Energy Market Outlook โดยเว็บไซต์ alliedmarketresearch.com คาดการณ์ว่ามูลค่าในตลาดพลังงานทดแทนทั่วโลกในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นแตะ 1,977.60 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ในปี 2017 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 928 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราเติบโต 6.1% ต่อปี ซึ่งทางซีกโลกเอเชีย เช่น จีนและอินเดียนับเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสของพลังงานทดแทนที่คาดว่าตลาดจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การพัฒนาอุตสาหกรรม และนโยบายเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ซี่งในภาพรวมของธุรกิจไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ผลิตพลังงานทดแทนเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนด้วย

สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศไทย มักเป็นการลงทุนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ สาธารณูปโภค, เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม ในด้านสไตล์การลงทุนส่วนใหญ่เน้นในกลุ่มหุ้นเติบโต และอาจเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปที่ต่างกัน จึงทำให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงมีความแตกต่างกันด้วย

กองทุนรวมธนชาต โกลบอล เอ็นเนอร์จี ฟันด์ (T-GlobalEnergy) (บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย))

T-GlobalEnergy เป็นกองทุนรวมต่างประเทศหรือกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศที่กองทุนจะพิจารณาลงทุน สามารถลงทุนได้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจพลังงาน เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงาน แหล่งกำเนิดพลังงานสำหรับยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดพลังงาน ณ จุดใช้พลังงาน (On-site Power Generation) การเก็บพลังงาน (Energy Storage) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานอื่นๆ รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน กระบวนการในการผลิตพลังงานทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) และปลายน้ำ (Downstream) การสำรวจ การพัฒนา และการจำหน่ายพลังงาน

นอกจากนั้น อาจจะลงทุนในบริษัทที่กำลังมองหาการสำรวจและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ๆ ทั้งนี้ สัดส่วนในการลงทุนของกองทุนนี้จะขึ้นอยู่กับสภาวะการลงทุนหรือการคาดการณ์สภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาตามดุลยพินิจที่ผู้จัดการกองทุนเห็นเหมาะสม

สำหรับผลการดำเนินงาน T-GlobalEnergy 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2566 ให้ผลตอบแทนรวม -7.06% ขณะที่ผลตอบแทนรวมเฉลี่ย (ต่อปี) 3 ปี และ 5 ปี ทำได้ 7.07% และ 10.30% ตามลำดับ

เหมาะกับใคร

1. นักลงผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

2. นักลงทุนที่สามารถลงทุนในระยะยาวได้

3. นักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ทำไมต้องลงทุน

1. เป็นธุรกิจที่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว

2. พลังงานหมุนเวียน เป็นเชื้อเพลิงที่มีบทบาทต่อนวัตกรรมใหม่ๆ และทุกอุตสาหกรรมจะต้องนำไปใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ จึงได้รับประโยชน์ในระยะยาว

3. นักลงทุนมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำรงชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย), บลจ.ไทยพาณิชย์, ธนาคารไทยพาณิชย์, Morningstarthailand

รูปภาพ

ที่มา : alliedmarketresearch.com

อธิบายภาพ : คาดการณ์ว่ามูลค่าในตลาดพลังงานทดแทนทั่วโลกในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นแตะ 1,977.60 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ปี 2021 – 2030 อยู่ที่ระดับ 8.4%

ที่มา : alliedmarketresearch.com

อธิบายภาพ : มูลค่าตลาดพลังงานทดแทนแบ่งตามประเภทพลังงานทดแทนเปรียบเทียบระหว่างปี 2020 กับ 2030