เป็นคำถามที่พบบ่อยมากทุกครั้งที่ไปบรรยายเรื่องการเงินหลังเกษียณ เพื่อตอบเรื่องนี้ เราไปดูกฎหมายของสรรพากรก่อนดีกว่าว่าใครบ้างต้องเสียภาษี

สรรพากร กำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

➡️ บุคคลธรรมดา
➡️ ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
➡️ ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
➡️ กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
➡️ วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ดังนั้น ผู้ที่เกษียณอายุ หรือ คนสูงอายุ จึงไม่ได้รับการยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เงินได้ทุกอย่างต้องเสียภาษีเงินได้ มีเงินได้บางอย่างเหมือนกันที่ผู้สูงอายุได้รับแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เราลองมาดูรายละเอียดกันว่าเงินได้ไหนเสียภาษี เงินได้ไหนไม่เสียภาษีเงินได้

✅ “เงินได้” ที่ผู้เกษียณอายุไม่ต้องเสียภาษี

เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข)

เงินและผลตอบแทนที่ได้รับจาก กบข. รวมถึงผลตอบแทนที่เกิดขึ้นนับจากวันที่ให้ กบข. บริหารต่อจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น กรณีที่ข้าราชการออกจากราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว หรือลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์แล้ว

เงินก้อนหรือเงินรับรายงวดจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

กรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ต้องเกษียณอายุตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ในเวลาที่ออกจากงาน โดยการเกษียณอายุตามข้อบังคับนั้นลูกจ้างต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

เงินบำเหน็จบำนาญ

กรณีชราภาพประกันสังคม ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

เงินที่ได้จากการขายคืน RMF

กรณีผู้ลงทุนลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ผลประโยชน์ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

ผลประโยชน์ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

ผลประโยชน์ประกันชีวิตแบบทั่วไป

ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร

เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์หากดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันมีจำนวนเกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี ให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งจำนวน และนำส่งกรมสรรพากร

เงินบำเหน็จดำรงชีพ

ที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องนำเงินที่ได้ไปคำนวณรวมเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีนั้น

✅ “เงินได้” ที่ผู้เกษียณแล้วต้องเสียภาษี

เงินได้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินได้จากการรับจ้างทำงานให้ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ หรือ เงินได้จากการให้เช่า ฯลฯ เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งนั้น แต่ก็มีเงินได้บางอย่างที่มักจะเข้าใจผิดว่าไม่ต้องเสียภาษี อย่างเช่น

➡️ เงินบำเหน็จ บำนาญที่ข้าราชการได้รับจากกรมบัญชีกลาง เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยจัดเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันเงินเดือนตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

➡️ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(😎 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

💵 ค่าลดหย่อน สำหรับผู้เกษียณแล้ว

ผู้ที่มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น ให้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิยกเว้นประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้ หรือจะใช้สิทธิยกเว้นเงินได้จากเงินได้หลายประเภทก็ได้ แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 190,000 บาท เช่น หักจากรายได้เงินบำนาญอย่างเดียว หักจากรายได้เงินค่าเช่าอย่างเดียว หรือหักทั้ง 2 ช่องทางรวมกันต้องไม่เกิน 190,000 บาท

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สูงอายุยังมีหน้าทีต้องเสียภาษีเงินได้อยู่ก็ตาม แต่ก็ยังมีสิทธิในค่าลดหย่อนต่างๆ ที่จะช่วยให้ประหยัดภาษีเงินได้ได้มากขึ้น อย่างเช่น

➡️ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ แต่รวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนรวมหรือ กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

➡️ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่รวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนรวมหรือ กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

➡️ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG หรือ Thai ESG) ได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

➡️ การลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

เรื่องภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด แม้จะเกษียณจากการทำงานแล้ว แต่ไม่สามารถเกษียณจากการเสียภาษีได้ ตราบใดที่เรายังมีรายได้ที่เข้าข่ายและถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี เราก็ต้องคอยบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่เสมอ

เขียน: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
ภาพ: ภควดี เหมภาณิช