“ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” บอกได้ดีถึงความสำคัญของความไม่แน่นอน หรือที่เราเรียกอีกคำว่า “ความเสี่ยง” นั่นเอง

ความเสี่ยง หรือ Risk หมายถึงโอกาสที่ผลที่ได้รับไม่ตรงกับแผนงานหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างเช่น เช้านี้เราออกเดินทางมาทำงานตามเวลาปกติ เพราะคาดหวังว่าจะสามารถถึงที่ทำงานได้ในเวลาที่ตั้งใจไว้ ความเสี่ยงก็คือ เราอาจไปถึงที่ทำงานเร็วกว่าที่คาดเยอะ เพราะรถไม่ติดเลย หรือ เราอาจไปสายเป็นชั่วโมง เพราะรถติดมาก หรือ รถเสียระหว่างทาง เป็นต้น

ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเป็นการกระทำหรือสถานการณ์ที่อาจส่งผลได้ทั้งทางด้านบวกและลบแก่ตนเอง หรือ องค์กรเราก็ได้ทั้งนั้น แต่โดยทั่วไป คนจะสนใจเฉพาะความเสี่ยงที่ส่งผลแง่ลบมากกว่า อย่างเช่น ความเสี่ยงที่จะขาดทุน ความเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ ความเสี่ยงที่จะเป็นโรค ฯลฯ และจะดีใจมากหากสิ่งที่เกิดขึ้นดีกว่าที่คาดไว้

อย่างเช่น ได้กำไรเกินคาด ถูกล็อตเตอรี่ หรือ ขี่มอเตอร์ไซค์แว้นแล้วกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ฯลฯ จนหลงไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือ ไม่ใช่โชค เลยทุ่มสุดตัวกับกิจกรรมนั้นๆ โดยลืมคิดไปว่าเมื่อมีผลลัพธ์ที่ดีได้ก็ย่อมมีผลลัพธ์ที่เสียหายได้เช่นกัน อย่างเช่น เมื่อกำไรได้มากอย่างไม่คาดฝัน ก็ย่อมมีโอกาสขาดทุนมากอย่างไม่คาดฝัน เมื่อขี่รถแว้นปลอดภัยได้ ก็ย่อมมีโอกาสพลาดได้เช่นกัน สุดท้ายเมื่อผลลัพธ์ด้านลบเกิดขึ้นจริง ความเสียหายจึงมากเกินคาด

ความเสี่ยงในทางวิชาการ

แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

ความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure risk)

ความเสี่ยงที่แท้จริงนั้น หมายถึง ความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดความเสียหายถ้าหากเกิดภัยขึ้นหรือไม่เกิดความเสียหายถ้าหากภัยไม่เกิดขึ้น สรุปง่ายๆ คือ เป็นความเสี่ยงมีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เจ๊า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เจ๊ง

ความเสี่ยงอันเกิดจากการเก็งกำไร (Speculative risk)

ความเสี่ยงในการเก็งกำไร หมายถึง ความเสี่ยงที่มีผลที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งกำไรหรือขาดทุน เช่น การลงทุน การพนัน การดำเนินกิจการธุรกิจก็คือการเก็ง สรุปง่ายๆ คือ เป็นความเสี่ยงมีทั้งกำไร เจ๊า และเจ๊ง

ในการบริหารความเสี่ยงที่เราสามารถโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันรับไปแทนเราได้มีเฉพาะความเสียงที่แท้จริงเท่านั้น

แต่เมื่อเราจะโอนความเสี่ยงของเราไปให้บริษัทประกันรับ เราก็ต้องยอมที่จะจ่ายเบี้ยประกันด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะมีเงินมากหรือเงินน้อย เราก็ควรใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า

ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาให้ดีว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากประกันคุ้มหรือไม่กับเบี้ยที่จ่าย โดยมีวิธีพิจารณาดังนี้

1. มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการซื้อประกันหรือไม่

อย่างเช่น เราอาจเลือกรับความเสี่ยงของค่ารักษาพยาบาลแบบคนไข้นอกไว้เอง เพราะเห็นว่าค่ารักษายังอยู่ในระดับที่เรามีความสามารถจ่ายได้ ซึ่งก็จะช่วยเราประหยัดเบี้ยได้เยอะ

2. เลือกซื้อประกันแบบที่เราต้องการ

อย่างเช่น หากเราต้องการความคุ้มครองสูงๆเทียบกับเบี้ยที่จ่าย เราก็ควรเลือกประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ เป็นต้น

3. เลือกซื้อประกันประเภทให้ความคุ้มครองเฉพาะความเสี่ยงที่เราต้องการ

อย่างเช่น หากเรากังวลความเสียหายที่เกิดกับรถเราและรถคู่กรณีจากรถชนรถ เราก็อาจเลือกซื้อประกันประเภท 2+ หรือ 3+ ก็ได้ ช่วยให้ประหยัดเบี้ยได้เยอะเช่นกัน

4. เลือกซื้อทุนประกันที่เหมาะสมกับความต้องการ

อย่างเช่น ประกันสุขภาพ ถ้าวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เราซื้ออยู่ที่ 20 ล้านบาท ฟังดูก็ดีนะ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นแทบมั่นใจได้เลยว่า เราไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอะไรทั้งสิ้น แต่ของฟรีไม่มีในโลก ทุนประกันยิ่งสูง เบี้ยก็ยิ่งสูง แต่หากเราป่วยมีค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท หลักของประกันคือ การชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง บริษัทประกันก็จะรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลแทนเรา 100,000 บาทเท่านั้น

แปลว่าทุนประกันที่เราซื้อเยอะถึง 20 ล้านบาท ใช้จริงๆแค่ 100,000 บาท เราซื้อทุนประกันเยอะเกินไปถึง 19 ล้านกว่าๆ แต่จะรู้ว่าเราซื้อเยอะไปหรือไม่ แล้วซื้อเยอะไปเท่าไหร่ เราก็ต้องพิจารณาโอกาสที่เราจะเกิดความเสียหายมีมากน้อยแค่ไหน ขนาดของความเสียหายมีเท่าไหร่

อย่างเช่น หากเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมาก เราก็ต้องพิจารณาว่าค่ารักษามะเร็ง ค่าห้อง ฯลฯ ในพื้นที่ที่เราอยู่ราคาเท่าไหร่ เราก็ควรซื้อประกันคุ้มครองโรคมะเร็งที่ทุนเท่านั้น

5. เลือกระยะเวลาคุ้มครองที่เหมาะสมกับความคุ้มครองความเสี่ยงที่เราต้องการ

อย่างเช่น หากเราต้องการซื้อประกันเพื่อคุ้มครองการศึกษาลูก กลัวว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับเรา ลูกจะเรียนหนังสือไม่จบ ระยะเวลาความคุ้มครองก็อาจเลือกเท่ากับระยะเวลาการศึกษาของลูกก็ได้ หรืออย่างหากเราต้องการซื้อประกันประเภทคุ้มครองการเสียชีวิต ระยะเวลาคุ้มครองก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 90 ปีตามแนวโน้มที่คนไทยอายุยาวขึ้น

6. มองเงินในกระเป๋าสำหรับจ่ายค่าเบี้ยประกัน

เลือกประเภทประกัน เลือกทุนประกันแล้ว เลือกระยะเวลาคุ้มครองแล้ว เราก็ต้องมองเงินในกระเป๋า หรือ รายได้เราว่าจะสามารถพอจ่ายค่าเบี้ยประกันได้เท่าไหร่ และระยะเวลาจ่ายเบี้ยที่เหมาะสมกับเราคือเท่าไหร่

7. มองหาวิธีประหยัดเบี้ย

อย่างเช่น ประกันรถยนต์เรายังเลือกวิธีประหยัดเบี้ย ไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนเป็นประกัน 2+ หรือ 3+ หรือ ติดกล้องหน้ารถยนต์ ระบุผู้ขับขี่ หรือรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก ฯลฯ ประกันสุขภาพเองก็มีวิธีลดเบี้ยเช่นกัน อย่างเช่น ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductibles) คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้เอาประกันต้องใช้สิทธิเบิกกับสวัสดิการอื่น และ/หรือกรมธรรม์อื่นก่อน

ส่วนที่เกินจากค่าใช้จ่ายส่วนนี้ บริษัทประกันจะผิดชอบแบบผู้เอาประกันมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายร่วม) ค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) คือ ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากจำนวนความรับผิดส่วนแรกที่บริษัทประกันกับผู้เอาประกันต้องร่วมกันรับผิดชอบ

8. เปรียบเทียบราคากับความคุ้มครองหลายๆ ที่ เลือกที่คุ้มสุด

โดยเฉพาะประกันสุขภาพ โชคดีที่วันนี้ ประกันสุขภาพที่ขายกันจะเป็นประกันสุขภาพตามมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ ทำให้สามารถเปรียบเทียบประกันสุขภาพของที่ต่างๆ ได้ง่าย และอย่าลืมเลือกบริษัทประกันที่เคลมง่ายๆไม่เรื่องมากเวลาเรามีปัญหา