สวัสดีครับพบกันอีกครั้งกับ ซีรี่ย์ “ใช้งานแนวรับแนวต้านอย่างมืออาชีพ” ตอนที่แล้วเป็นตอนที่ 1 ผมได้แนะนำให้รู้จักกับคำนิยาม และที่มาของการเกิดแนวรับ-แนวต้านทางจิตวิทยาให้รู้จักกัน สำหรับตอนที่ 2 นี้ผมจะมาแนะนำรูปร่างหน้าตาของกราฟ 5 แบบที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคพิจารณาให้เป็นแนวรับ-แนวต้าน พร้อมทั้งให้เหตุผลสนับสนุนว่าทำไมหน้าตาของกราฟดังกล่าวจึงน่าสนใจพิจราณาให้เป็นแนวรับ-แนวต้าน

รูปแบบกราฟแนวรับ-แนวต้านทั้งหมด 5 รูปแบบที่น่าสนใจ ได้แก่

1. จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous High & Previous Low)

2. เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Trend Line, Moving Average)

3. ระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (Horizontal Consolidation Region)

4. ตัวเลขกลม ๆ (Round Number)

5. สัดส่วน Fibonacci (Fibonacci Ratio)

รูปแสดงกราฟ 5 แบบที่นักเทคนิคพิจราณาให้เป็นแนวรับ-แนวต้าน

1. จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous High & Previous Low)

จุดสูงสุดก่อนหน้า Previous High และจุดต่ำสุดก่อนหน้า Previous Low (L) คือ ระดับราคาที่เป็นราคาสูงสุด หรือระดับราคาที่เป็นราคาต่ำสุดที่อยู่ในกราฟจากการเคลื่อนที่ของราคาในอดีต ทั้งสองระดับราคาซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เราจะพิจารณาเป็นแนวรับหรือแนวต้าน

ลองจินตนาการการเคลื่อนที่ของราคาในหัวข้อที่แล้วอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเมื่อราคากลับขึ้นไปใกล้บริเวณจุดสูงสุดเดิมก่อนหน้าอีกครั้ง  ในครั้งนี้คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดความคิดว่าราคาจะปรับตัวลดลงไปอีกเหมือนครั้งที่แล้วจึงมีแรงเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมากที่ระดับราคานี้ ทำให้จุดสูงสุดก่อนหน้าจะเป็นระดับราคาที่เราจะพิจารณาให้เป็นแนวต้าน  

แต่ถ้าเมื่อราคาปรับตัวลงมาถึงจุดต่ำสุดก่อนหน้านี้จะมีหลายคนในตลาดจะคิดว่าเป็นราคาถูกแล้ว และคิดว่าราคาจะกลับขึ้นไปอีกครั้ง ก็น่าจะมีแรงซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากที่ระดับราคานี้ ทำให้จุดต่ำสุดก่อนหน้าจะเป็นระดับราคาที่เราพิจารณาให้เป็นแนวรับ

รูปอธิบายเหตุผลที่จุดสูงสุดเดิมทำหน้าที่เป็นแนวต้าน และจุดต่ำสุดเดิมทำหน้าที่เป็นแนวรับ

รูปตัวอย่างจุดต่ำสุดก่อนหน้าทำหน้าที่เป็นแนวรับ ความต้องการซื้อที่เข้ามามากที่แนวรับสามารถทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

รูปตัวอย่างจุดสูงสุดก่อนหน้าทำหน้าที่เป็นแนวต้าน ความต้องการขายที่เข้ามามากที่แนวต้านสามารถทำให้ราคาปรับตัวลดลง

2. เส้นแนวโน้ม (Trend Line)

เหตุผลในการพิจารณาเส้นแนวโน้มเป็นแนวรับหรือแนวต้าน เนื่องจากเมื่อเราลากเส้นแนวโน้มขึ้นมาได้ 1 เส้น (รายละเอียดการลากเส้นแนวโน้น แนะนำให้กลับไปอ่านบทความ “4 เทคนิคทำกำไรด้วยเส้น Trend Line ที่มือใหม่ต้องรู้”) ไม่ว่าจะเป็นเส้นแนวโน้มขาขึ้น หรือเส้นแนวโน้มขาลงก็ตาม ตลอดช่วงที่ลากเส้นแนวโน้มขึ้นมาได้จะไม่มีช่วงไหนเลยที่ราคาข้ามเส้นแนวโน้ม แปลว่าเส้นแนวโน้มได้แบ่งพื้นที่กราฟออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน เราจึงเชื่อว่าถ้าแนวโน้มจะยังคงทิศทางเดิมอยู่ ราคาไม่ควรจะตัดข้ามเส้นแนวโน้ม

สำหรับแนวโน้มขาขึ้นไม่มีช่วงเวลาไหนเลย หรือถ้ามีก็เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ๆ ที่ราคาลดต่ำลงกว่าเส้นแนวโน้มขาขึ้น

และสำหรับเส้นแนวโมขาลงก็ไม่มีช่วงเวลาไหนเลย หรือถ้ามีก็เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ๆ เช่นกันที่ราคาลดต่ำลงกว่าเส้นแนวโน้มขาลง

ดังนั้นในช่วงแนวโน้มขาขึ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากใกล้ๆบริเวณเส้นแนวโน้มขาขึ้นจึงเป็นระดับราคาที่หลายคนให้ความสนใจอยากจะซื้อหุ้น ในทางกลับกันในช่วงแนวโน้มขาลงเมื่อราคาหุ้นมีการขยับตัวสูงขั้นเข้าใกล้บริเวณเส้นแนวโน้มขาลง ก็จะมีคนให้ความสนใจอยากจายหุ้นตัวนั้นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยมีสมมุติฐานว่าทิศทางของแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางจนกว่าจะมีสัญญาณบางอย่างทางเทคนิคที่ชัดเจนบอกว่าแนวโน้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว

นักเทคนิคจึงพิจารณา หาจังหวะซื้อหุ้นเมื่อระดับราคาเข้าใกล้เส้นแนวโน้มขาขึ้น จึงเป็นที่มาของเส้นแนวโน้มขาขึ้นทำหน้าที่เป็นแนวรับ และหาจังหวะขายหุ้นเมื่อราคาดับราคาเข้าใกล้เส้นแนวโน้มขาลง จึงเป็นที่มาของเส้นแนวโน้มขาลงทำหน้าที่เป็นแนวต้าน

สำหรับไอเดียในการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น เส้นแนวโน้มไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจวาดเส้นแนวโน้มที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งก็ได้ โดยใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด (Indicators) ประเภทหนึ่ง โดยจะเห็นได้ว่าถ้าเราเลือกค่าตัวแปรที่เหมาะสมของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่สำหรับหุ้นแต่ละตัว เมื่อราคาเคลื่อนที่เข้ามาใกล้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่นั้น ๆ จะสามารถพิจารณาให้เป็นแนวรับหรือแนวต้านได้