เป้าหมายทางการเงินสำหรับเก็บออมของเรามักถูกแบ่งออกเป็นสองก้อนใหญ่ๆ ก้อนแรกคือเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคตระยะสั้น ส่วนอีกก้อนคือเงินสำหรับการเกษียณในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

แต่หลังจากที่การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา เบรนท์ ไวส์ (Brent Weiss) นักวางแผนการเงินและหัวหน้าฝ่ายสุขภาพการเงินของ Facet บริษัทผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุนในบัลติมอร์บอกว่าตอนนี้หลายต่อหลายคนเริ่มกลับพิจารณาเรื่องเป้าหมายการเงินของตัวเองใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว

แทนที่จะมีแค่เงินก้อนฉุกเฉินและเงินก้อนสำหรับเกษียณ ตอนนี้มีการแบ่ง ‘เงินก้อนสำหรับโอกาสดีๆ’ ในชีวิตเพิ่มขึ้นมาด้วย

ไวส์กล่าวว่า

“โควิดได้เปลี่ยนแนวความคิดว่าเราอยากจะใช้ชีวิตยังไง อยากอยู่ที่ไหน โอกาสอะไรจะเกิดขึ้นบาง - อาชีพการงาน ชีวิต อะไรก็ตาม ตอนนี้เราเห็นคนพูดว่า ‘ฉันไม่คิดว่าอยากจะเอาเงินทั้งหมดไปใส่ในเงินก้อนเพื่อเกษียณสำหรับอีก 30 ปีข้างหน้าจากวันนี้แล้ว ฉันอาจจะอยากทำอะไรที่ต่างออกไปใน 3 หรือ 5 ปี’”

โดยเป้าหมายในการเก็บเงินก้อนสำหรับโอกาสดีๆ ก็เป็นอะไรก็ตามที่เราอยากทำในอนาคตที่ไม่ไกลออกไปนัก เช่นการกลับไปเรียนต่อ เปลี่ยนสายงาน ฝึกทักษะใหม่ หรือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ได้

คุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน?

การระบุเป้าหมายเพื่อเงินก้อนสำหรับโอกาสดีๆนั้นเป็นเหมือนการเตือนสติด้านการเงินไม่น้อยสำหรับหลายๆ คน ไวส์บอกว่าเขาจะถามลูกค้าว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาและอยากทำอะไรต่อไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยเริ่มต้นจากคำถามว่า “คุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน?”

แคโรลียน แมคคลานาฮาน (Carolyn McClanahan) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินอีกคนหนึ่งก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เธอบอกกับ CNBC ว่า “เมื่อเราสร้างกรอบความคิดที่ขยายชีวิตของลูกค้าให้มากที่สุดตอนนี้ มันเปลี่ยนบทสนทนาไปเลย”

เธออธิบายต่อว่ามันทำให้มองชีวิตในอีกหลายๆ ด้าน สมมุติว่าคุยกับลูกค้าคนหนึ่งที่เกลียดงานของตัวเองในตอนนี้มากๆ แทนที่จะแค่โฟกัสเรื่องแผนการเกษียณ คำถามที่เราควรจะถามคือจะเปลี่ยนแปลงยังไงให้ชีวิตที่มีอยู่ตอนนี้ดีขึ้นสักหน่อย ให้มันโอเค จะเปลี่ยนงานไหม หรือจะทำยังไง

การเก็บเงินก้อนสำหรับโอกาสดีๆ ในชีวิตเลยกลายเป็นเงินที่เอาไว้สำหรับการขยับขยายให้ชีวิตเราเดินไปในทางที่ดีขึ้น เหมือนเป็นเงินสำหรับเป้าหมายช่วงเวลากลางๆ ไม่สั้น ไม่ยาวเกินไป

เรียกว่าเป็นเงินก้อนที่เราจะใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับชีวิตของตัวเองก็คงไม่ผิดนัก

คำแนะนำสามข้อสำหรับการเริ่มเก็บเงินก้อนสำหรับโอกาสดีๆ

1. ให้คิดว่าเงินเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง

ไวส์แนะนำว่าเราต้องดูก่อนเลยว่าเป้าหมายของเราที่อยากทำคืออะไรและเมื่อไหร่

จากนั้นก็เริ่มระบุว่าเราจะแบ่งเงินมาตรงนี้ได้เท่าไหร่เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
“เงินเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยทำให้คุณประสบความสำเร็จ ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม” ไวส์กล่าว

2. ปรับแผนการลงทุนสำหรับเงินก้อนนั้นเพื่อเป้าหมายของเรา

เมื่อเรากำหนดระยะเวลาแล้วว่าอยากจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ ข้อมูลตรงนี้จะช่วยนำเราว่าต้องเก็บหรือลงทุนยังไงเพื่อจะไปให้ถึงตรงนั้น

มันจะต่างจากเงินสำรองฉุกเฉินและเงินสำหรับการเกษียณ เราต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไป เพราะมีเวลา 3-5 ปี มันไม่สั้นไม่ยาว เพราะฉะนั้นจะเสี่ยงมากก็ไม่ได้ จะเก็บไว้เฉยๆก็เสียโอกาส ไวส์แนะนำว่าอาจจะเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือบัญชีเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าปกติสักหน่อย

แต่สำหรับแมคคลานาฮาน เธอกลับรู้สึกว่าระยะเวลาสั้นๆ แบบนี้อาจจะเก็บเป็นเงินสดในบัญชีปกติก็ได้เช่นเดียวกันเพราะไม่ได้ต่างกันมาก แต่สิ่งที่ไม่แนะนำคือการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูง

3. ฉลองให้กับชัยชนะเล็กๆ

ไวส์แนะนำว่าไม่ว่าเป้าหมายการเงินของคุณจะเป็นการยังไง ความท้าทายที่ต้องเอาชนะไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้นมันจึงสำคัญมากที่จะฉลองให้กับชัยชนะเล็กๆ ที่เราทำได้

ยกตัวอย่างเช่นถ้าเรามีหนี้บัตรเครดิตและเราเอาเงินสดทุกบาทโปะเพื่อจะลดยอดหนี้นั้นลงเรื่อยๆ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนกำลังไดเอตอดอาหารอยู่

“มันจะรู้สึกตึงมากๆ บางทีคุณอาจจะพลาดในอีกสามเดือนและกลับไปเป็นเหมือนเดิม”

สิ่งที่ไวส์แนะนำคือเราควรกันเงินออกมาสักหน่อยเพื่อจะเอาไปฉลองชัยชนะเล็กๆ ของการจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้ตรงเวลาอย่างเช่นไปกินอาหารนอกบ้านสักมื้อหนึ่ง วิธีนี้นอกจากเราจะมีความสุขกับเงินที่หามาแล้ว ยังขยับเข้าใกล้เป้าหมายเรื่องการเคลียร์หนี้มากขึ้นด้วย

“กรอบความคิดของเราสำคัญมากๆ” ไวส์กล่าว “ถ้าเรามัวแต่ไปโฟกัสที่ด้านการเงินของชีวิตและลืมเรื่องกรอบคิดและจิตวิทยา เราจะไม่มีทางสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือความสำเร็จที่เราอยากจะเห็นได้เลย”