ประกันเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่แปลกมากๆ ไม่เหมือนการลงทุน การลงทุนเราควรรอจังหวะที่ราคาเมื่อเทียบกับมูลค่าต่ำมากหรือเมื่อมีสัญญาณทางเทคนิคที่เหมาะสม ประกันกลับตรงกันข้ามกับการลงทุน ตรงที่จุดที่ควรซื้อประกันมากที่สุด คือ “จุดที่เรามีความเสี่ยงมากที่สุด”

อย่างเช่น เราควรซื้อประกันชีวิตมากที่สุดตอนที่เรามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากที่สุด อย่างเช่น ซื้อตอนที่เราเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่หมอบอกจะอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน เป็นต้น

เหมือนอย่างน้องที่รู้จักคนหนึ่งโทรมาขอคำปรึกษา “พี่ๆ พ่อหนูตรวจพบเป็นมะเร็ง พี่แนะนำให้หนูหน่อยว่าจะซื้อประกันที่ไหนได้บ้าง เพราะพ่อไม่มีเงิน ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย” เป็นคำถามที่ตอบง่ายมากว่า “บริษัทประกันไม่รับ”

แต่ตอบยากมากตรงที่ไม่รู้จะหาทางออกให้น้องเขาอย่างไร ประกันไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตหรือ ประกันสุขภาพ จึงเป็นผลิตภัณฑ์การเงินประเภท “ซื้อเร็วไป 3 ปียังดีกว่าซื้อช้าไปแค่ 1 วินาที”

ความเสี่ยงด้านสุขภาพนับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” คือ ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นเยอะมาก และเมื่อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ขนาดของความเสียหายแรงมาก แต่คนมักจะมองข้ามไป ตัวอย่างของความเสี่ยงแบบ “แรดเทา” ก็คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และภาษี

อย่างเช่น โอกาสที่สรรพากรจะตรวจพบว่าเราหนีภาษีมีสูงมาก และเมื่อสรรพากรตรวจพบเมื่อไหร่ เราก็ต้องเสียภาษี บวกค่าปรับ บวกเงินเพิ่ม บางคนที่รู้ทั้งรู้ว่าโอกาสโดนสรรพากรตรวจพบมีเยอะ แต่เพราะเสียดายภาษีที่ต้องจ่าย จึงเลือกวิธีหนีภาษี สุดท้ายกลับเสียเงินมากมาย ทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

ส่วนเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย โดยทั่วไป มักจะมาพร้อมๆ กัน คือ เมื่อเราแก่ เรามักจะป่วย เข้าโรงพยาบาลบ่อย และมีโอกาสเสียชีวิตมาก คนหลายคนจึงมักจะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพตอนใกล้เกษียณ เพราะมองว่าหากซื้อตอนหนุ่มสาวจะไม่คุ้ม เพราะเบี้ยประกันสุขภาพคล้ายเบี้ยประกันรถยนต์ คือ เป็นเบี้ยที่ให้ความคุ้มครอง เป็นเบี้ยประเภทจ่ายแล้วทิ้ง คือ ถ้าไม่ป่วย ก็ไม่ได้เงินคืน

แต่ในความเป็นจริง เรามีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดทุกช่วงอายุ สังเกตได้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีคลินิกทั่วไป คลินิกเด็ก คลินิกผู้สูงอายุ และตามข้อมูลจากโรงพยาบาลศิครินทร์ คนแต่ละช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ดังนี้

• อายุ 23-45 ปี

วัยทำงาน มีความเครียด เครียดสะสม รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย
เสี่ยงโรค : โรคเกี่ยวกับสายตา ออฟฟิศซินโดรม เบาหวาน ตับ-ไต ไมเกรน กรดไหลย้อน ฯลฯ

• อายุ 45-60 ปี

ช่วงวัยนี้ระดับฮอร์โมนเริ่มเสื่อมลง ระบบเผาผลาญเริ่มทำงานช้า
เสี่ยงโรค : ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก สำหรับผู้หญิงให้ระวัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ผู้ชายให้ระวัง มะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ

• อายุมากกว่า 60 ปี

ร่างกายเริ่มเสื่อมลง ร่างกายเริ่มแสดงปัญหาสุขภาพต่างๆ ออกมา
เสี่ยงโรค : ต้อกระจก กระดูกพรุนโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ฯลฯ

เมื่อความเสี่ยงด้านสุขภาพเรามีอยู่ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนวันตาย เราก็ควรจะต้องบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ดีด้วยการลดโอกาสการเจ็บป่วย เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารถูกสุขลักษณะ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรพิจารณาการลดขนาดของความเสียหายเมื่อเราเจ็บป่วยด้วยการซื้อประกันสุขภาพ

หลักการซื้อประกันสุขภาพที่ดี

มีดังนี้

1. ควรทำประกันสุขภาพตอนที่สุขภาพยังดีอยู่ เพราะจะได้รับความคุ้มครองเต็มที่ เบี้ยไม่แพง

2. เช็กประวัติสุขภาพของครอบครัว

โรคหลายโรคเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งบางอย่าง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เราก็ควรพิจารณาการเลือกซื้อประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคนั้นๆแต่เนิ่นๆ

3.ตรวจสอบความเสี่ยงสุขภาพตัวเอง

สังเกตว่า life style เรา เช่น เป็นคนชอบออกกำลังกายมั้ย ทานอาหารที่มีประโยชน์หรือไม่ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษหรือไม่ (เช่น อยู่ในพื้นที่เสี่ยง PM2.5) อาชีพหรืองานที่ทำ เครียดหรือเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือไม่ หากเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ถ้าปรับ life style ได้ ก็ควรปรับนะเพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วย แต่บางอย่างก็ปรับลำบาก อย่างเช่นเราอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 เยอะมาก คงลำบากที่จะย้ายบ้าน ย้ายครอบครัว ย้ายที่ทำงาน จะใส่หน้ากากกันฝุ่นตลอดเวลาก็หายใจลำบาก เมื่อลดโอกาสการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM2.5 ได้ยาก ก็ควรมองหาประกันสุขภาพเพื่อลดความเสียหายนะ

4. สำรวจค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

สำรวจค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในพื้นที่ที่เราคาดว่าจะอยู่ในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น ช่วงเกษียณคาดว่าจะอยู่ต่างจังหวัด ก็ลองสำรวจค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องของโรงพยาบาลมาตรฐานในพื้นที่นั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อค่ารักษาพยาบาลหรือค่าห้องแพงๆ อย่างใน กทม.

5.สำรวจสวัสดิการสุขภาพทั้งหมดที่มีอยู่

ไม่ว่าจะประกันสังคม หรือสวัสดิการต่าง ๆ อย่างบัตรทอง ว่าคุ้มครองการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง สถานพยาบาลที่เราต้องรับการรักษาดีหรือไม่ คุณภาพยาที่ได้รับดีหรือไม่ ฯลฯ หากรับได้ แต่ต้องการคุณภาพบางอย่างดีขึ้น เช่น ยาที่ดีขึ้น หรือห้องที่ดีขึ้น เราก็สามารถซื้อประกันสุขภาพเพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมตามที่เราต้องการ

และไม่เพียงสำรวจสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ เรายังต้องสำรวจประกันสุขภาพที่เคยซื้อไปแล้วด้วยว่า เป็นประกันสุขภาพแบบไหน คุ้มครองอะไรบ้าง วงเงินคุ้มครองแต่ละรายการเท่าไร เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม สำหรับคนที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่ต้องซื้อเพิ่ม การเลือกประกันสุขภาพแบบที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่าย โดยมีความรับผิดส่วนแรกและค่าใช้จ่ายร่วมที่ช่วยให้เราประหยัดเบี้ยประกันสุขภาพได้เยอะเหมือนกัน

6.เลือกความต้องการด้านสุขภาพให้เหมาะสม
.
ปัจจุบันมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ทำให้เราสามารถเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับเราได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เราต้องการความคุ้มครองอะไรบ้าง ผู้ป่วยนอก (OPD) ผู้ป่วยใน (IPD) หรือคุ้มครองโรคร้ายแรง (CI) ต้องการวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่ หรือรูปแบบความคุ้มครองยังไง เป็นแบบเหมาจ่ายต่อปี หรือแยกค่าใช้จ่าย ต้องการเงินชดเชยรายได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องถามตัวเองให้ดีก่อนเลือกทำประกันสุขภาพ

7.ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในระยะยาว

เบี้ยประกันสุขภาพจะแพงขึ้นทุกปีตามอายุ เราจึงต้องวางแผนในระยะยาวให้ดี โดยเฉพาะช่วงอายุมากๆ รายได้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเกษียณ หรือ ปัญหาสุขภาพ ฯลฯ เราสามารถดูว่าต้องจ่ายเบี้ยเท่าไหร่ในแต่ละปีจากเล่มกรมธรรม์ประกัน

8.เก็บออมเงินเพื่อสำรองค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง (Self insured)

เพราะค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นตลอด เบี้ยประกันสุขภาพก็แพงขึ้นตลอดเช่นกัน จนถึงจุดหนึ่งที่เราประเมินแล้วไม่สามารถชำระเบี้ยประกันที่สูงขนาดนั้นได้ เราก็อาจเลือกที่จะลดทุนประกันลง ใช้เงินสำรองที่เตรียมไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกินกว่าวงเงินคุ้มครอง