เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 กันไปแล้วกับการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายหลายอย่าง ทั้งใช้ในการสื่อสาร ส่งงาน หารายได้ และที่สำคัญคือใช้ทำธุรกรรมการเงิน แต่เหรียญมีสองด้าน บนความง่ายและรวดเร็ว ก็มีภัยแอบแฝงมาด้วย จึงมักได้ยินข่าวการหลอกลวงรูปแบบต่าง ๆ ทางออนไลน์อยู่บ่อยเสมอ

จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เริ่มให้บริการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีการแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่เปิดรับจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ทั้งสิ้นกว่า 5 หมื่นคดี จากข้อมูลในเดือนสิงหาคมเดือนเดียวคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 3.5 พันล้านบาท เจ้าหน้าที่ดำเนินการอายัดบัญชีที่กระทำความผิดกว่า 5 พันบัญชี

โดยประเภทคดีออนไลน์ ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ

• ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%)

• หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ (19.21%)

• หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%)

• หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%)

• Call Center (ติดต่อมาข่มขู่ให้ตกใจ หวาดกลัว) (6.08%)

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการหลอกลวงที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทั้งนั้นเลย 

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกหลอกได้ มาดูกลวิธีของมิจฉาชีพกัน


ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า

เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน ปัญหาคือเหยื่อโอนเงินไปแล้วแต่ไม่ได้สินค้า, สินค้าด้อยคุณภาพ หนักสุดคือสินค้าไม่ตรงปก สั่งมือถือได้ที่ลับมีดจนต้องกรี้ดเมื่อเปิดกล่องพัสดุ เป็นต้น

การป้องกัน

ปัญหานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า ถ้าสั่งซื้อผ่านแอปฯ ซื้อสินค้าออนไลน์ก็ดูรีวิวการตอบรับของลูกค้าคนอื่น หากซื้อผ่านเพจหรือร้านค้าทางโซเชียลมีเดียก็ควรเข้าไปในกลุ่มที่ขายสินค้าชนิดนั้นเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มช่วยให้เครดิต หากซื้อโดยตรงก็พูดคุยสอบถาม ขอดูหลักฐานต่าง ๆ เช่น ใบจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นต้น

หรือหากซื้อของผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ควรขึ้นต้นด้วย https:// บวกกับไอคอนรูปแม่กุญแจด้านหน้า ซึ่งอุ่นใจได้ว่าสั่งซื้อสินค้าแล้วจะมีการเชื่อมต่อแบบ Secure Sockets Layer (SSL) รวมถึงค้นหาประวัติเว็บไซต์นั้น ๆ ใน Google เพิ่มเติมด้วย

หลอกให้ลงทุน

ปัญหาหลอกให้ลงทุนมีมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ที่ดัง ๆ ล่าสุดก็เป็นคดี Forex-3D ที่รูปแบบก็จะเป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่หลอกให้เหยื่อมาร่วมลงทุนโดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนอื่น ๆ

การป้องกัน

จะป้องกันปัญหานี้ได้ ที่สำคัญที่สุดคือผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนนั้น เพราะหากฝากเงินให้คนอื่นลงทุนโดยไม่รู้ว่าการลงทุนเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนหลอก

หากเป็นการลงทุนในหุ้นควรลงทุนผ่านบริษัทที่รับรองโดย ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้ที่ www.sec.or.th/licensecheck  หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข้อสังเกตที่มิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนมีเหมือนกันคือ 

• มักจะอ้างคนมีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญมาลงทุนด้วย

• อวดอ้างว่าตนเองร่ำรวย อยากแบ่งปัน 

• บอกว่าลงทุนน้อยให้ผลตอบแทนสูงแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

• โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว

• ไม่สามารถตรวจสอบบริษัทได้

หลอกให้ทำงานออนไลน์

กลโกงหลอกให้ทำงานจะมาในหลายรูปแบบ เช่น

• มิจฉาชีพจะติดต่อเหยื่อเพื่อเสนองานให้ทำ โดยรูปแบบการหลอกลวงมีหลายอย่างเช่น บอกว่าจะให้ทำงานออนไลน์ง่าย ๆ วันละหลายพันบาท เมื่ออยากทำเหยื่อจำเป็นจะต้องจ่ายค่าประกันหลายพันถึงหลายหมื่นบาทเพื่อมัดจำว่าจะทำงานครบกำหนดเวลา เมื่อโอนเงินแล้วมิจฉาชีพก็หายตัวไป 

• หลอกให้ทำงานด้วยการใช้บัญชีเหยื่อในการโอนถ่ายเงินจากการทุจริตต่าง ๆ โดยจ่าย 10-20% จากยอดโอนเข้า เช่นโอนเข้า 1 แสนบาท ก็หักไว้ 1 หมื่นบาทแล้วโอนไปบัญชีที่มิจฉาชีพแจ้ง โดนวิธีนี้เหยื่อจะรู้ตัวก็ตอนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหรือธนาคารอายัดบัญชีเพราะถือว่าอยู่ในขบวนการฟอกเงิน 

• ให้เหยื่อทำงานต่าง ๆ โดยคนร้ายจะปลอมตัวเป็นแพลตฟอร์มหรือบริษัทใหญ่ ว่าจ้างให้เหยื่อทำงานฝีมือแต่ต้องสั่งสินค้าหรือวัตถุดิบจากตนเอง เมื่อเหยื่อทำเสร็จให้ส่งกลับมาแล้วจะคืนเงินค่าสินค้าพร้อมค่าจ้าง แต่เมื่อเหยื่อโอนเงินค่าสินค้าก็จะหลบหนีไป

การป้องกัน

ปัญหานี้มักจะเกิดกับผู้ที่ต้องการทำงาน แต่การตกลงทำงานแล้วต้องจ่ายเงินประกันต่าง ๆ จำเป็นต้องหาข้อมูล ที่สำคัญ บริษัทที่รับเข้าทำงานควรมีหลักแหล่ง ติดตามได้ หรือหากเป็นกลโกงรูปแบบอื่นเช่นทำงานออนไลน์แล้วได้เงินง่าย อาจจะต้องพิจารณาว่างานนั้นเหมาะสมกับค่าจ้างที่จะได้รับหรือไม่ ถ้างานง่ายเงินดีแบบนั้น ทำไมไม่มีคนไปทำ เป็นต้น

หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน

ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นปัญหาสำคัญ การเข้าถึงระบบการเงินถูกจำกัด ดังนั้นคนหาเช้ากินค่ำมีความจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบ ทำให้เกิดการหลอกลวงประเภทให้บริการกู้เงิน โดยเหล่ามิจฉาชีพจะทำการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ก ส่งอีเมลหรือส่งข้อความเข้ามือถือโดยตรง บอกว่าให้บริการเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ต้องซื้อสินค้า ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร

เมื่อเหยื่อติดต่อไปและขอกู้เงิน มิจฉาชีพจำแกล้งทำเป็นขอข้อมูล ก่อนสุดท้ายจะแจ้งเหยื่อว่าต้องมีการทำสัญญาและมีค่าธรรมเนียมดำเนินการ อาจให้จ่ายดอกเบี้ยก่อน หรือค่ามัดจำต่าง ๆ โดยจะแจ้งเลขบัญชีให้เหยื่อโอนเงินภายในเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะโอนเงินกู้กลับไปให้เหยื่อ แน่นอนมิจฉาชีพจะหายเข้ากลีบเมฆเมื่อได้เงินไปแล้ว

การป้องกัน

กลโกงให้กู้เงินนั้นมักจะทำผ่านอีเมล โปรแกรมแชต หรือทางโทรศัพท์ จะไม่มีการมาเจอตัว แม้กระทั่งทำสัญญาก็จะทำผ่านช่องทางที่กล่าวมา ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ และการกู้เงินนั้นผู้กู้ต้องได้เงินก่อนเสมอ หากมีการให้โอนเงินไปก่อนเป็นไปได้ว่าอาจกำลังถูกหลอก

แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ปัญหามหาชนที่โด่งดังและยังไม่สามารถจัดการได้ โดยมีรูปแบบการโทรมาแจ้งว่าเหยื่อเข้าไปเกี่ยวพันกันสิ่งผิดกฎหมาย พัวพันยาเสพติด พัสดุตกค้าง ติดต่อจากธนาคารดัง อนุมัติเงินต่าง ๆ สรรพากรตรวจสอบ (เชื่อว่าอนาคตจะมีการข่มขู่รูปแบบอื่นอีกมากมายตามมา) จนทำให้เหยื่อกลัว แล้วทำตามที่มิจฉาชีพบอก โดยสุดท้ายจะให้เหยื่อโอนเงินเพื่อนำไปตรวจสอบ แล้วตัดการติดต่อไป

การป้องกัน

หลัก ๆ แล้วเหยื่อที่ถูกหลอกเรื่องนี้มักเกิดจากการกลัวความผิดที่มิจฉาชีพนำมาข่มขู่ ดังนั้นการตั้งสติเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งใจฟังว่ามิจฉาชีพพูดอะไร พยายามคิดว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญหน่วยงานรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ จะไม่ติดต่อโดยตรง ซึ่งหากมีการกล่าวอ้างแล้วพยายามให้โอนเงินไปให้ น่าจะเป็นการหลอกลวงร้อยเปอร์เซ็นต์

การป้องกันเพิ่มเติม

1. เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้น้อยที่สุดในโลกโซเชียล เพราะข้อมูลเหล่านั้นอาจถูกจับจ้องโดยมิจฉาชีพ

2. การทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องโอนเงิน ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หากเป็นการติดต่อจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง ก็ควรติดต่อโดยตรงเพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ 

3. การได้รับข้อมูลที่บอกว่าจะมีทรัพย์สินหรือผลตอบแทนสูงมาให้ ควรตรวจสอบและพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเป็นจริงได้มากแค่ไหน

4. หน่วยงานรัฐ องค์กรต่าง ๆ หรือผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียและอีเมล จะไม่มีการติดต่อหาผู้ใช้เพื่อขอรหัสต่าง ๆ รวมถึงให้โอนเงินให้ หากมีการขอข้อมูลดังกล่าวให้คิดว่ากำลังถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

5. ตรวจสอบเว็บไซต์ ร้านค้าออนไลน์ หมายเลขบัญชีในการโอนเงินซื้อสินค้าอย่างละเอียดก่อนทำการโอนเงิน

6. ติดตามข่าวกลโกงต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อไม่ให้โดนหลอก (aomMONEY ก็มีเตือนตลอดนะ)

ทำอย่างไรเมื่อตกเป็นเหยื่อ

1. หากมีการโอนเงินให้มิจฉาชีพ

ควรรีบติดต่อธนาคารเพื่อทำการระงับการโอน หากไม่สามารถระงับได้ ต้องรีบรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีที่โรงพักที่อยู่ในเขตของผู้แจ้งความ และต้องระบุด้วยว่า “ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด”

เมื่อแจ้งความเรียบร้อยแล้วให้นำเลขบัญชีของมิจฉาชีพที่โกง ใบแจ้งความ และหลักฐานการโอนเงินไปยังธนาคารปลายทางของบัญชีมิจฉาชีพ จากนั้นให้ยื่นเรื่องขอคืนเงินหรืออายัดบัญชี เมื่อคนร้ายไม่สามารถใช้เงินในบัญชีได้ก็จะสามารถดำเนินคดีและมีโอกาสได้เงินคืนมากขึ้นด้วย

2. หากถูกนำบัญชีไปใช้ถ่ายโอนเงิน

ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการติดตามมิจฉาชีพ

กลโกงการหลอกลวงนั้นพัฒนาอยู่เสมอ การรู้เท่าทันกลโกงจึงเป็นเรื่องจำเป็น และการป้องกันที่ดีที่สุดอีกอย่างคือ ตั้งสติเมื่อมีมิจฉาชีพเสนอทรัพย์สินหรือข่มขู่ รวมถึงเข้าใจพื้นฐานการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ และหากต้องทำการโอนเงินให้ใครก็ตาม ควรมีการตรวจสอบและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกครั้ง


อ้างอิง

ซีรีส์ภัยทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

https://www.youtube.com/watch?v=hvMCskNPcwk&t=9s.

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

https://www.1213.or.th/th/finfrauds/Pages/finfrauds.aspx

ดีอีเอส เปิดตัวเลขเหยื่อไซเบอร์

https://www.mdes.go.th/news/detail/5819-