ความท้าทายอย่างหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งเอาไว้ในแต่ละเดือนคือหยุดตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายเงินเกินตัว มื้อค่ำกับเพื่อน หรือกางเกงยีนตัวใหม่ หรือเสื้อแจ็คเก็ตลายสวย ๆ ที่เพิ่งออกคอลเลกชั่นใหม่ การปฏิเสธหรือยับยั้งตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากมาก

แต่ถ้าเราอยากไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น

เบอร์นาเดต จอย (Bernadette Joy) โค้ชการเงินผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การเงิน ‘Crush Your Money Goals’ ที่ล้างหนี้หลัก 10 ล้านได้ภายใน 3 ปี และมีเงินลงทุนกว่า 33 ล้านบาทด้วยตัวเองภายในอายุ 37 ปีได้แชร์ 2 เทคนิคลดการใช้จ่ายกับ CNBC ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอใช้กับตัวเองแล้วได้ผลจนสามารถจ่ายหนี้ก้อนใหญ่นั้นได้ เธอบอกว่ามันคือการสร้างกรอบให้กับตัวเอง “ตัดสิ่งที่มีก็ดี การซื้อด้วยอารมณ์ ดีในตอนนั้นและบางทีก็ไม่ได้สำคัญเลย” ออกไป แล้วจะมีเงินเหลือเยอะขึ้น

โดย 2 เทคนิคที่เธอใช้คือ

1. กฎ 1 เหรียญ

สำหรับกฎนี้จอยบอกว่ามันเป็นอะไรที่ง่ายมาก “สินค้าไหนก็ตามที่การใช้แต่ละครั้งถูกกว่าหรือเท่ากับ 1 เหรียญ ฉันก็จะอนุญาตให้ตัวเองซื้อ กฎนี้จะให้ฉันสามารถที่จะซื้อของที่ใช้บ่อย ๆ และป้องกันการซื้อแบบตามอารมณ์และซื้อแค่เพราะมันเป็นดีลที่ราคาดีเท่านั้น”

ที่จริงกฎข้อนี้เราอาจจะต้องเอามาปรับให้เข้ากับบริบทของค่าเงินของเราสักหน่อย อย่างของจอยใช้กฎ 1 เหรียญ มูลค่าอยู่ที่ราว ๆ 35 บาท เราอาจจะลดลงมาหน่อย ปรับเป็นกฎ 20 บาท แบบนี้ก็พอได้เพราะค่าเงินของเราถูกกว่า

วิธีการใช้กฎนี้ก็คือว่า สมมุติเราไปเห็นเสื้อกันหนาวตัวละ 5,000 บาท ถ้าเราใช้กฎ 20 บาท ก็คือเอาราคาของสินค้าที่อยากได้ (ในกรณีนี้ก็ 5,000 บาท) ไปหาร 20 บาท ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนครั้งที่เราควรต้องใช้สินค้านั้นให้เพื่อให้คุ้มค่า อย่างในกรณีนี้ 5,000 / 20 = 250 ครั้ง ถ้าเราคิดว่าไม่มีทางที่เราจะใส่เสื้อกันหนาวตัวนี้ 250 ครั้งในปีนี้อย่างแน่นอน เพราะบ้านเราก็ไม่ได้หนาวตลอดปีและเสื้อที่บ้านก็มีอยู่แล้ว ก็ตัดใจจากมันได้เลย

เทคนิคนี้ช่วยให้เธอสามารถเลือกสินค้าได้ดีขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมีคุณภาพมากขึ้นด้วย เธอยกตัวอย่างเช่นเสื้อยืดตัวละ 200 บาท ถ้าใส่แค่ครั้งเดียวยังไงก็ไม่คุ้ม แม้ว่าจะแค่ 200 บาทก็ตามที

2. กฎ 80/20

กฎข้อนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ เธอบอกว่าให้ลองคำนวณว่าสิ่งที่เราจะซื้อนั้นจะใช้เยอะแค่ไหน 80%? หรือแค่ 20%?

จอยยกตัวอย่างว่า “ฉันเคยบ่นกับเพื่อนว่าไม่อยากซื้อโทรศัพท์ใหม่หรือแล็ปท็อปเครื่องใหม่เพราะมันราคาสูง แต่ฉันก็ใช้ทั้งคู่ทุกวัน มันก็เลยลบล้างความรู้สึกผิดตรงนั้นไปเพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็น”

เพราะฉะนั้นถ้าคุณซื้อมาแล้วใช้มันแค่ 20% อาจจะลองตัดสินใจใหม่อีกครั้งดูเพราะความคุ้มค่าน่าจะยังไม่พอ เช่นจะซื้อเตาอบขนมมาติดบ้าน โดยที่ ‘คิดว่า’ ถ้าว่างจะลองทำขนมตาม YouTube ดู ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยว่างและเตาอบพวกนี้ก็จะไปอยู่ในห้องเก็บของในอีกไม่นานในอนาคต

อะไรก็ตามที่ตกระหว่าง 20%-80% ก็ลองชั่งใจดูครับว่าจะใช้มันเยอะแค่ไหน เพราะของที่มีก็ได้ ก็คงไม่มีก็ได้เช่นเดียวกัน

จอยเน้นย้ำว่าการลดหรือตัดค่าใช้จ่ายนั้นไม่ได้หมายถึงการตัดทุกอย่างที่สนุกออกไปจากชีวิต อย่าทำให้ตัวเองรู้สึกลำบากหรือของที่ทำให้ตัวเองมีความสุข การ ‘ติดตามเงินทุกบาทหรือด่าตัวเองไม่ได้ช่วยทำให้ใช้จ่ายน้อยลง’ แต่ให้จัดสรรเงินสำหรับสิ่งที่รักหรือนำความสุขมาให้จริง ๆ ดีกว่า

CNBC

Crush Your Money Goals