ผ่านไปแล้วเกือบหนึ่งเดือนสำหรับปี 2023

บางคนบอกไม่ทันไรก็หมดเดือนแล้ว แต่บางคนบอกว่าทำไมยังไม่สิ้นเดือนอีกเหรอนี่เงินหมดไปนานแล้ว

ต่างคนต่างบริบทแตกต่างกันออกไป แต่ถ้ามองในมุมบวกอีกสักหน่อยคือเรายังเหลือเวลาอีกตั้ง 11 เดือนในปีนี้ เป้าหมายที่วางเอาไว้ตอนต้นปีตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มทำไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินให้มากขึ้น ลงทุนให้มากขึ้น หรือการจัดการการเงินให้ดีขึ้นในปีนี้

สำหรับบางคนที่ยังไม่ได้เริ่ม เริ่มต้นนี้ก็ยังไม่สาย อย่างที่มีคนเคยกล่าวว่า “เวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือเมื่อยี่สิบปีก่อน เวลาที่ดีที่สุดรองลงมาก็คือวันนี้” ในเมื่อย้อนกลับไปยี่สิบปีก่อนไม่ได้ก็เริ่มมันวันนี้เลยละกัน

เป้าหมายทางการเงินไม่ได้แตกต่างจากเป้าหมายอื่น ๆ ในชีวิต มันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเรามี ‘นิสัยทางการเงิน’ ที่ดี อย่างที่ เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เขียนบอกว่า

“นิสัยของคุณนั้นมีผลอย่างมากต่อชีวิต มันสามารถแยกระหว่างความสำเร็จและล้มเหลวได้ มันกำหนดได้เลยว่าคุณจะแข็งแรงหรืออ่อนแอ ร่ำรวยหรือยากจน”

(สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ขอแนะนำเลยว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง)

มาลองดูแนวคิดการสร้าง ‘นิสัยการเงินที่ดี’ ว่ามีอะไรกันบ้าง อ้างอิงจากหนังสือ Atomic Habits เล่มนี้เลย

1. เริ่มเล็ก ๆ และ ลืมเรื่องความสมบูรณ์แบบไปได้เลย

แทนที่เราจะคิดในหัวว่าอยากจะประสบความสำเร็จในด้านการเงินก็ล้างไพ่เริ่มใหม่หมด (เช่น…เลิกช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่อีกเลย จะเก็บเงินทุกบาทจากเงินเดือนไม่ใช้จ่ายอะไรเลย) ให้ลองโฟกัสไปที่การเริ่มต้น ‘เล็ก ๆ’ และ ‘สม่ำเสมอ’ ในทุก ๆ วันครับ

ในหนังสือ “Atomic Habits” บอกว่า “คุณไม่ต้องเริ่มนิสัยใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แค่ต้องเริ่มทำเท่านั้น”

สมมุติว่าอยากจะลงทุนให้เยอะขึ้นในปีนี้ ก็เริ่มทำง่าย ๆ ครับ อาทิตย์ละ 500 บาท หรือ เดือนละ 1000 บาท เอาไปซื้อกองทุนหรืออะไรก็ได้ที่เป็นการลงทุน เริ่มต้นเล็ก ๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ เงินไม่ต้องมาก มันเป็นการสร้างนิสัยในการลงทุน

หลังจากทุกอย่างเริ่มเข้าที่ก็อาจจะเพิ่มอีกนิดหน่อย เดือนละ 1,500 บาท หรือ 2,000 บาท ไปเรื่อย ๆ

เจมส์ เคลียร์ กล่าวว่า “นิสัยคือดอกเบี้ยทบต้นของการพัฒนาตนเอง ทางเดียวกันที่เงินเพิ่มขึ้นผ่านดอกเบี้ยทบต้นนั่นแหละ ผลลัพธ์คือสิ่งที่ได้จากนิสัย ทวีคูณขึ้นเมื่อทำซ้ำ ๆ”

(ที่จริงตรงนี้ถ้ามองกลับอีกด้านหนึ่งคือถ้านิสัยการเงินที่แย่ก็จะทำให้เราดำดิ่งแย่ลงได้เร็วมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นมันดอกเบี้ยทบต้นนั้นไปได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ)

นิสัยเล็ก ๆ เหล่านี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ แต่ควรเริ่มเลยตั้งแต่วันนี้

2. ทำให้นิสัยการเงินที่ดีนั้นทำง่ายเข้าไว้ (หรืออัตโนมัติเลยก็ยิ่งดี)

มันง่ายกว่ามากถ้าจะทำให้เรื่องบางอย่างกลายเป็นนิสัยถ้ามันทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยาก ยิ่งทำให้ง่ายเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามีโอกาสล้มเลิกกลางทางน้อยลงเท่านั้น

ยกตัวอย่าง

  • ใช้แอปฯมือถือเพื่อติดตามรายรับรายจ่าย
  • ลงทุนผ่านระบบที่ตัดเงินบัญชีแบบอัตโนมัติ
  • แยกบัญชีสำหรับใช้จ่ายและเก็บออมตั้งแต่วันที่เงินเข้า
  • ใช้เทคนิคการบริหารเงินแบบชัดเจนอย่าง 50/30/20 (ใช้จำเป็น 50%, ซื้อของที่อยากได้ 30% และออม 20%)

ทำให้นิสัยเหล่านี้เป็นเรื่องติดตัวครับ อันไหนทำเป็นอัตโนมัติได้เลยยิ่งดี ไม่ต้องคิดมาก มนุษย์เป็นสัตว์คิดมาก คิดไปคิดมาส่วนใหญ่รู้ว่าควรทำอะไร แต่ก็มักจะมีข้ออ้างให้ไม่ทำเสมอ อย่าหวังพึ่งพากำลังใจ…เพราะมันหายไปเร็วยิ่งกว่าเงินเดือนครับ

3. ทำให้นิสัยการเงินแย่ ๆ เป็นเรื่องยุ่งยาก

ก็เหมือนการทำให้นิสัยการเงินที่ดีเป็นเรื่องง่ายนั่นแหละ อีกขั้วหนึ่งก็คือทำให้นิสัยการเงินแย่ ๆ เป็นเรื่องยุ่งยากก็จะช่วยลดนิสัยที่ไม่ดีลงไปได้เช่นเดียวกัน ยิ่งยากยิ่งดีครับ (จำได้ว่ามีฉากหนึ่งของหนังเรื่อง “Confession Of a Shopaholic” ที่ตัวเองแช่บัตรเครดิตของตัวเองไว้ในน้ำแข็ง)

ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองมักนั่งไถมือถือซื้อของออนไลน์ตอนก่อนนอน แนะนำให้วางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะ หรือ ชาร์จไว้นอกห้อง หรือถ้ามีบ้านสองชั้นก็วางไว้คนละชั้นกับห้องนอนเราเลยยิ่งดี เวลาจะใช้ก็รู้สึกขี้เกียจลุกจนลืมไปเลย (อันนี้ใช้กับตัวเองเป็นประจำและได้ผลครับ)

หรือลองใช้กฎ 72 ชั่วโมง (3 วัน) ดูก็ได้ครับ ถ้าเห็นอะไรที่อยากได้ ให้รอ 3 วัน ถ้าผ่านไปแล้วสามวันยังอยากได้ ก็กลับมาคิดใหม่ว่าจะซื้อจริง ๆ รึเปล่า ส่วนใหญ่แล้วหลังจากผ่านไปสามวันมักจะไม่ซื้อแล้ว ส่วนใหญ่จะมองว่ามันก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น กฎนี้ทำให้อารมณ์ความต้องการในเวลานั้นหายไปและช่วยประหยัดเงินได้เยอะเลยทีเดียว

4. ติดตามผลและอย่าลืมปรบมือให้ตัวเองด้วยระหว่างทาง

ไม่ว่าเป้าหมายทางการเงินของคุณจะเป็นอะไร ก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ อยากซื้อคอมฯใหม่ อยากได้รถยนต์ อยากได้บ้าน จ่ายหนี้ ฯลฯ ระหว่างทางก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปกินอาหารที่อยากทาน ไปเที่ยวพักผ่อน ไปดูหนัง ไปทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองจะมีความสุข มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการแสดงความยินดีกับตัวเองและสิ่งที่ตัวเองทำมา

อย่างเช่นผมอยากซื้อมือถือเครื่องใหม่ราคา 3 หมื่นบาท ตั้งเป้าว่าถ้าเก็บเงินได้ครบหมื่น ก็พาตัวเองออกไปดูหนังหรือเปย์อาหารดี ๆ ให้ตัวเองสักมื้อ หรืออะไรแบบนี้ก็ได้ครับ มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่ช่วยทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้มาถึงหมุดหมายสำคัญ

เจมส์ เคลียร์ เขียนเอาไว้ว่า “ชัยชนะเล็ก ๆ สร้างความรู้สึกของการไปถึงเป้าหมายและทำให้เราอยากทำนิสัยที่ดีแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

และแน่นอนว่าเราไม่สามารถที่แสดงความยินดีกับตัวเองได้ถ้าไม่มีการติดตามผลระหว่างทาง เพราะฉะนั้นอย่าลืมจดไว้ด้วยว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ไปถึงไหนแล้ว

5. เป้าหมายที่ปลายทางต้องอยู่ในหัวเสมอ

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไขว้เขวหรือเหมือนตัวเองกำลังออกนอกเส้นทาง สิ่งสำคัญคือการเตือนตัวเองว่า ‘นิสัยการเงินที่ดี’ ที่คุณกำลังสร้างอยู่นี้กำลังพาคุณไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุโดยมีเงินเก็บที่อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการมีอิสรภาพทางการเงิน นิสัยที่ดีจะพาคุณไปยังเป้าหมายที่ต้องการ

อย่าไปโฟกัสถึงสิ่งที่คุณต้องเสียไปหรือต้องแลกเพื่อให้ได้มา ลองนึกถึงด้านดี ๆ ของนิสัยที่คุณกำลังสร้างขึ้นมา

ยกตัวอย่าง อย่าไปโฟกัสว่าตัวเองไม่ได้เครื่อง Playstation 5 เพราะต้องเก็บเงินเอาไว้สำหรับการพาครอบครัวไปเที่ยวช่วงสิ้นปี เพราะฉะนั้นแทนที่จะมองว่า “ต้องหยุดซื้อของที่ไม่จำเป็น” ให้เป็น “เดี๋ยวพอไปเที่ยว ครอบครัวของเราก็จะได้สร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยกัน” แบบนี้จะดีกว่า

พยายามมองนิสัยที่เรากำลังสร้างในเชิงบวกแทนที่จะเป็น ‘สิ่งที่ต้องทำ’ เหมือนกับโดนบังคับนั่นแหละครับ