สำหรับคนที่เป็นแฟนภาพยนตร์ฮ่องกงน่าจะคุ้นชื่อกับ 2 นักแสดงชายชั้นนำแห่งเอเชียอย่าง ‘เหลียงเฉาเหว่ย’ และ ‘หลิวเต๋อหัว’ เป็นอย่างดี

หลังจากประชันฝีมือกันไว้ในภาพยนตร์ชุดที่โด่งดัง ​“Infernal Affairs” (สองคนสองคม) เมื่อ 20 ปีก่อน พวกเขาได้มีโอกาสกลับมาเจอกันอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องใหม่ชื่อว่า “The Goldfinger”

เล่าถึงเรื่องราวที่ย้อนไปยังช่วงยุค 80 ที่อังกฤษกำลังจะคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน หลิว ไค หยวน (หลิวเต๋อหัว) ผู้อำนวยการสืบสวนสอบสวนอาวุโสของ ICAC (คณะกรรมการอิสระต่อต้านการคอร์รัปชั่นของฮ่องกง) พยายามตามจับ ชิง ยัด ยิน (เหลียงเฉาเหว่ย) ประธานบริษัท คาร์เมน เอนเตอร์ไพรส์ ที่เติบโตอย่างผิดปกติในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

เป็นเรื่องราวของการชิงไหวชิงพริบกันระหว่าง หลิว ไค หยวน และ ชิง ยัด ยิน กับการล้มละลายของบริษัทคาร์เมน ข้อหาปั่นหุ้น สร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง กู้เงินโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมมากมาย จนประสบความสำเร็จและดึงดูดเงินนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่สุดท้ายเมื่อรัฐบาลของสหรัฐประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงผูกค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงกับดอลลาร์สหรัฐฯ (currency board peg) ทำให้ดอกเบี้ยในฮ่องกงสูงขึ้นตามไปด้วย

ผลที่ตามมาคือธนาคารเริ่มเรียกเก็บเงินกู้คืน แต่แน่นอนว่าบริษัทไม่มีจ่าย สุดท้ายจึงล้มละลายในที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของการล่มสลายของกลุ่มบริษัท คาร์เรียน กรุ๊ป (Carrian Group) จากการฉ้อโกง อื้อฉาวทางการเงิน นอกจากนั้นยังมีคดีพัวพันการฆาตกรรมนักบัญชีของธนาคาร ในปี 1983 อีกด้วย

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นคดีล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง รายงานจากหนังสือพิมพ์ The New York Times บอกว่าคาร์เรียน กรุ๊ปมีหนี้สูงถึง 1,200 ล้านเหรียญเลยทีเดียว

[รายละเอียดของภาพยนตร์จะขอเล่าเพียงเท่านี้ อยากให้ไปดูกันครับสนุกเลย]

นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าติดตามและการแสดงของพระเอกทั้งสองคนที่เข้มข้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแฝงมาด้วยบทเรียนอันล้ำค่าทางการเงินสำหรับนักลงทุนไม่น้อยเลย

1. อย่าวิ่งตามอารมณ์ของตลาด

ชิง ยัด ยิน ตัวเอกของเรื่อง เริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรที่มีความทะเยอทะยาน แต่เข้าสู่โลกของการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับพาร์ตเนอร์คนหนึ่ง พวกเขาทั้งสองได้กำไรมหาศาลทุกครั้ง โดยการดันราคาที่ดินที่ซื้อขึ้นไปและสร้างกระแสความสนใจให้กับอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้

หลังจากนั้นไม่นานก็เข้าสู่โลกของธุรกิจและการปั่นราคาหุ้น ในขณะที่ตลาดกำลังคึกคัก ทุกอย่างก็ดูสดใสไปซะหมด

บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้คือ นักลงทุนควรใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบและตัดสินใจด้วยตัวเองหลังจากหาข้อมูลอย่างเพียงพอ อย่าไปวิ่งตามตลาด เห็นคนรอบข้างรวยแล้วทนไม่ไหว

อย่างที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นพวกเหรียญมีมหรือ NFTs หรือ แม้แต่กล้วยด่างในบ้านเรา เพียงเพราะคนอื่นเอาเงินไปใส่ในตลาดที่ร้อนแรง ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเข้าไปด้วย

อย่าลืมว่าตลาดไม่ได้สนใจว่าคุณจะสูญเสียเงินก้อนที่เก็บมาทั้งชีวิตรึเปล่า

2. ศึกษาบริษัทที่จะลงทุนทุกบริษัทอย่างละเอียด

ในหนัง ชิง ยัด ยิน ใช้ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดบริษัทหลายสิบแห่งในหลายอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ดันราคาหุ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ภายในเปลือกที่สวยงาม คำถามที่สำคัญคือธุรกิจดำเนินไปด้วยเงินจากไหน? และทำได้ดีมากแค่ไหน?

แน่นอนครับบริษัทใหญ่หลายๆ แห่งอาจจะอยู่ในหลายอุตสาหกรรมได้ และไม่จำเป็นต้องฉ้อโกงหรือทุจริต เพียงแต่สิ่งที่นักลงทุนสมควรทำคือต้องตรวจสอบให้ละเอียดก่อนที่จะเอาเงินที่อุตส่าห์หามาอย่างยากเย็นไปลงทุนในบริษัทที่ร้อนแรง มีแต่คนพูดถึง แต่ข้างในกลับกลวงเปล่า

3. กระจายความเสี่ยง

ในภาพยนตร์มีฉากหนึ่งระหว่างที่ตลาดหุ้นกำลังร่วงหนัก ชิง ยัด ยิน ยืนมองหน้าต่างแล้วมีเงาของใครสักคนหนึ่งที่กระโดดลงจากตึกเพื่อปลิดชีพของตัวเองจากความเสียหายทางการเงิน

มันเป็นฉากที่ชวนหดหู่ แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนใจได้เป็นอย่างดีว่านักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนอยู่เสมอไม่ว่าเมื่อไหร่ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าตลาดวันข้างหน้าจะเป็นยังไง

การพยายามจับจังหวะตลาดเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในตลาดและมีข้อมูลมากกว่าเราไม่รู้กี่เท่ายังไม่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตลอด

การลงทุนในตลาดหุ้นไม่ควรเป็นเพียงการลงทุนอย่างเดียว อย่าลืมกระจายพอร์ตไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย เช่น ETFs, ทองคำ, พันธบัตร, กองทุนรวม ฯลฯ​

คำว่า ‘อย่าใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียว’ ยังใช้ได้เสมอ

4. กำไรทางตัวเลขยังไม่ใช่กำไรที่แท้จริง

มีคำพูดหนึ่งที่ ชิง ยัด ยิน ชอบพูดคือ “หุ้นสามารถใช้ได้เหมือนเงินสด” ซึ่งแน่นอนว่าเขาพูดแบบนี้ได้เพราะตัวเองเป็นเจ้ามือปั่นหุ้นอยู่ข้างหลัง

แต่พอถึงจุดที่ทุกอย่างร่วง ราคาหุ้น คนแห่เทขาย หุ้นเหล่านั้นก็แทบจะไม่เหลือมูลค่าอะไรเลยด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่ากำไรทางตัวเลข (Unrealised Profit) ก็ยังเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

นักลงทุนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) บอกว่าเหตุผลหนึ่งที่เขาจะขายหุ้นก็คือตอนที่มีการซื้อขายหุ้นในตลาดอย่างบ้าคลั่ง (ตลาดกระทิง) ทำให้ราคาของธุรกิจที่ยอดเยี่ยมพุ่งทะลุเพดาน

ในกรณีนี้ราคาขายของหุ้นจะเกินความเป็นจริง ซึ่งความเป็นจริงของเศรษฐกิจในระยะยาวของธุรกิจก็เหมือนกับแรงโน้มถ่วง เมื่อราคาหุ้นพุ่งสูงทะลุฟ้า สุดท้ายแล้วก็จะต้องถูกดึงกลับสู่โลก การขายและนำเงินไปลงทุนที่อื่นอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าที่จะได้รับจากการครอบครองธุรกิจต่อไป

5. ไม่มีบริษัทไหนที่ใหญ่เกินไปที่จะล้ม

ที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างเช่น Lehman Brothers, Theranos, Toys ‘R’ Us, Blockbuster, Blackberry, MySpace และอีกมากมาย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แต่สุดท้ายแล้วก็ตายจากไป

เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่บอกว่าบริษัทใหญ่ๆ นั้น “ใหญ่เกินไปที่จะล้ม” (Too Big to Fail)

ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงว่าบริษัทใหญ่บางแห่งนั้นถ้าเกิดล้มขึ้นมาจะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างกับเศรษฐกิจ จนต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่นๆ รัฐบาล แบงค์ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ฯลฯ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้

แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติและทุกคนกำลังหนีตายเพื่อเอาตัวรอด ไม่มีบริษัทไหนหรอกครับที่ใหญ่เกินไปที่จะล้ม อย่างในหนังบริษัทที่ดูยิ่งใหญ่ สุดท้ายเจอเรื่องหนี้ท่วมหัว เจอเรื่องราคาหุ้นตก เจอฤทธิ์ดอกเบี้ยเข้าไป สุดท้ายก็ต้องล้มอยู่ดี

การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง การมองแค่ว่าลงทุนในบริษัทที่ยิ่งใหญ่แล้วจะปลอดภัย อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่นักหากเราไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วบริษัทนั้นซุกซ่อนปัญหาอะไรเอาไว้ข้างในรึเปล่า

สรุป 

ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น (อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง) แต่ทั้งสนุกและแฝงไปด้วยข้อคิดมากมายเลยโดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น

เป็นคำเตือนว่าไม่มีงานเลี้ยงไหนไม่เลิกรา วันหนึ่งตลาดที่ร้อนแรงก็จะจบลง ความร่ำรวยและเงินที่ได้มาง่ายก็หายไปได้ง่ายเช่นเดียวกัน

มีคำกล่าวหนึ่งของ บัฟเฟตต์ที่บอกว่า “คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนคืออารมณ์ ไม่ใช่สติปัญญา”

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนหรืออยู่ในตลาดมานานแล้วก็ตาม หากเมื่อไหร่ที่หลงไปกับความร้อนแรงของตลาด ทนเห็นคนอื่นรวยไม่ได้ ราคาขึ้นเอาๆ วิ่งตามอารมณ์ของตลาดเข้าไป เพราะอยากร่ำรวยในเวลาอันสั้น

สุดท้ายคนที่จะมีโอกาสเจ็บตัวมากที่สุดก็คือเราเอง