การมีเงินมากขึ้นทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นไหม?

คนส่วนใหญ่ตอบว่า “แน่นอนสิ” มันต้องทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอยู่แล้ว

แม้จะดูเป็นคำถามที่ตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายคนถกเถียงกันเรื่อยมา

ถ้าเราอ้างอิงจากงานวิจัยปี 2010 ของ 2 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) และ แองกัส ดีตัน (Angus Deaton) ก็จะบอกว่าเงินจะทำให้เรามีความสุขไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งตัวเลขที่ให้ไว้คือ 75,000 เหรียญ/ปี (2.6 ล้านบาท) ถ้าได้มากกว่านั้นความสุขก็จะไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว

แต่ในปี 2021 แมตต์ คิลลิงสเวิร์ธ (Matt Killingsworth) นักวิจัยอีกคนหนึ่งก็นำเรื่องนี้ศึกษาใหม่ ก็พบว่าที่จริงแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นไปแล้ว ระดับรายได้ที่จะทำให้คนมีความสุขได้อยู่ที่ราวๆ 100,000 เหรียญ/ปี (3.5 ล้านบาท) และหลังจากนั้นความสุขก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ราคาสินค้าเท่านั้นที่แพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ความสุขของเราก็มีราคาแพงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ใช้เงินยังไงให้เกิดความทุกข์?

อาเทอร์ ซี. บรูคส์ (Arthur C. Brooks) ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง “From Strength to Strength” (ติด New York Times Bestseller) และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้านปฏิบัติการจัดการ สอนเรื่องการเป็นผู้นำ ความสุข และการจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร บอกว่า

“สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าคุณมี ‘เท่าไหร่’ แต่เป็นคุณ ‘ทำอะไร’ กับเงินตรงนั้นมากกว่า”

บรูคส์อธิบายว่าความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการซื้อของ แต่เป็นการใช้เงินจ่ายเพื่อประสบการณ์ที่น่าจดจำกับคนที่คุณรักหรือมอบให้กับองค์กรการกุศลหรือใครก็ตามที่คุณรักและห่วงใย

การใช้เงินเพื่อซื้อความสุขก็เรื่องหนึ่ง หลายคนอาจจะเคยพอได้อ่านกันมาบ้างแล้ว

แต่คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือมันเป็นไปได้ไหมที่จะ ‘ใช้เงินแล้วทำให้เกิดความทุกข์’ ?

จากประสบการณ์การทำงานและสิ่งที่เขาเรียนรู้มา บรูคส์บอกว่า “มีอย่างหนึ่งที่คุณทำกับเงินแล้วมีโอกาสสูงมากที่จะเพิ่ม ‘ความทุกข์’ ให้กับตัวเอง นั่นก็คือการ ‘ยืมเงินโดยไม่มีหนทางที่ชัดเจนว่าจะจ่ายคืนยังไง’”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการเป็นหนี้ (ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม) เพื่อบริโภคโดยไม่มีเงินหรือหนทางสำหรับการหาเงินตรงนั้นมาจ่ายคืน หรือ คิดว่าเดี๋ยวก็หาเงินมาจ่ายได้เองแหละ สุดท้ายปลายทางแล้วจะทำให้ความสุขในชีวิตของคุณลดลงอย่างมาก

“จะซื้อความสุขก็ได้ แต่รอให้มีเงินก่อน” บรูคส์กล่าว

หนี้กับความสุข

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2566 พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ไม่ใช่หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้เหมือนอย่างในต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนของ 1/3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด มันเป็นหนี้ที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ในขณะที่ต่างชาติหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน

คนไทยในปัจจุบันเป็นหนี้เร็ว วัยเริ่มทำงาน (อายุ 25 ถึง 29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และ หนี้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์ บางส่วนไม่นำไปสร้างรายได้ ทำให้เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปีซึ่งรวมถึงนักเรียนนักศึกษาเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นยังเป็นหนี้เกินตัว เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมีหนี้เกินสี่บัญชีต่อคนวงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10 - 25 เท่าของรายได้แต่ละเดือน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5 - 12 เท่าของรายได้ต่อเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายหนี้คืนซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิตแล้วนี่ส่วนบุคคลเกิน 50%

การกู้หนี้ยืมเงินถือเป็นทางเลือกหนึ่ง (แม้จะไม่อยาก) ในช่วงเวลาที่คับขัน เรื่องนั้นเข้าใจได้ ประเด็นอยู่ที่ปัจจุบันคนมากมายเป็นหนี้เพียงเพราะ ‘อยากได้อยากมี’ เหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้เจอสถานการณ์เลวร้ายในชีวิต แต่กลับใช้เงินมากกว่าความสามารถในการหามาได้ นั่นแหละปัญหา

เคยได้ยินนิทานเรื่อง ‘มดกับตั๊กแตน’ ไหมครับ?

ตั๊กแตนก็เหมือนคนที่กู้เงินมาก่อน เอาไปซื้อความสุข ส่วนมดก็ทำงานเก็บออม เพื่อมีความสุขในวันข้างหน้า

ปลายทางก็ออกมาเหมือนอย่างในนิทานนั่นแหละ ตั๊กแตนไม่มีความสุขเลยในท้ายที่สุด

ผลสำรวจจากนิตยสารการเงิน Forbes พบว่าคนที่เป็นหนี้กว่า 39% รู้สึกเครียดและกังวลเรื่องเงินอยู่บ่อยๆ และ 16% เครียดตลอดเวลาเลยด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นหนี้ รายได้ที่เข้ามาก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและนำไปสู่วังวนของความยากจนได้ง่ายขึ้น และนั่นอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของชีวิตด้วย

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของความยากจนที่ทำให้ความสามารถในการรับรู้และตัดสินใจลดลงว่า

“ความยากจนทำให้คนแทบจะไม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของเขาออกจากสถานภาพแห่งความยากจนของเขาไปได้ และการที่เขาไม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของเขาไปอยู่กับสิ่งที่ต้องการ cognitive function ทั้งหมดของเขาในการแก้ปัญหาได้ ความสามารถของการแก้ปัญหาของเขาในชีวิตประจำวันก็จะลดน้อยลงตามๆกันไป”

การศึกษาอีกหลายชิ้นที่พบว่าหนี้คือปัจจัยอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และบางคนถึงขั้นคิดสั้นได้เลย คนที่เป็นหนี้โดยไม่มีเงินสำรองเพียงพอสามารถนำไปสู่สุขภาพที่แย่ลงและทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ นอกจากนั้นแล้วปัญหาเรื่องหนี้สามารถส่งผลถึงความสัมพันธ์ของคู่รักและนำไปสู่การหย่าร้างด้วย

แต่ไม่ใช่ทุกหนี้ที่ทำให้เกิดความทุกข์

งั้นแสดงว่าเราไม่ควรเป็นหนี้เลยใช่ไหม?

ก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว บรูคส์บอกว่า “แน่นอน ไม่ใช่ทุกหนี้ที่จะส่งผลกระทบเหมือนกัน” ยกตัวอย่างหนี้บ้านก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความทุกข์อย่างมีนัยสำคัญ เพราะถึงแม้เราจะไม่จ่ายรายเดือนค่าบ้าน เราก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านอยู่ดี (ซึ่งก็ไม่ใช่ทางเลือกที่มีความสุขมากกว่ากัน)

หนี้เพื่อการบริโภคส่งผลลบยังไง?

ปกติแล้วในทางจิตวิทยาการเก็บออมเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายจะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ เช่นเก็บเงินเพื่อโซฟาตัวใหม่ หรือเพื่อไปเที่ยวกับครอบครัว เห็นตัวเลขในบัญชีเติบโตก็ทำให้เรามีความสุข เป็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

แต่กลับกันการจ่ายหนี้เป็นเดือนๆ จากการเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน สิ่งที่เราจะเห็นก็แค่การ ‘เป็นหนี้น้อยลง’ เท่านั้น (แถมยังต้องจ่ายดอกเบี้ยด้วย) พอจ่ายหมดโซฟาที่ได้ก็เก่าไปซะแล้ว

หนี้อีกอย่างหนึ่งที่บรูคส์บอกว่าทำให้ความสุขลดลงก็คือ ‘หนี้การศึกษา’ จากข้อมูลพบว่าหนี้ส่วนนี้ทำให้เกิดความเครียดตามมา ยิ่งหนี้ก้อนใหญ่ ยิ่งทำให้ความทุกข์และเบิร์นเอาต์เกิดขึ้นได้เยอะขึ้น การแบกหนี้ตรงนี้เอาไว้ขัดขวางความรู้สึกพึงพอใจในการสร้างความก้าวหน้าสู่อิสรภาพทางการเงินและความมั่นคงของตัวเอง

แก้ไขยังไงดี?

ทางแก้ยังมี เราสร้างหนี้ได้ ก็ต้องออกจากมันให้ได้ เมื่อเรารู้ว่าการเป็นหนี้ส่งผลต่อความสุขของเรา เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทวงความสุขของตัวเองกลับคืนมา

1. อย่าเป็นหนี้เพียงเพื่อจะใช้มันเพื่อบริโภค

พวกโปรโมชันซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later), ‘0% - สิบเดือน’ หรืออะไรก็ตาม หากมันเป็นการยืมเพื่อบริโภควันนี้แล้วค่อยจ่ายคืน โดยที่เราไม่มีเงินก้อนนั้นอยู่ ถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรเลี่ยงให้ไกล

(แต่ถ้าในกรณีที่จำเป็นจริงๆ อย่างเช่นต้องจ่ายค่าบ้านไม่งั้นครอบครัวไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องซื้ออาหารเข้าบ้านเพื่อให้มีอาหารทาน อันนี้ยังพอเข้าใจได้)

แต่ถ้าเป็นแค่การใช้เงินอนาคตเพื่อความสุขแบบชั่วคราวตอนนี้ มักกลายเป็นความทุกข์ทีหลัง

2. แม้จะเป็นการลงทุน ก็ควรยืมเท่าที่จำเป็น

หนี้การศึกษาถามว่าจำเป็นไหม? สำหรับหลายๆ คนก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี การศึกษาคือการลงทุนในตัวเองเพื่ออนาคตที่เราจะมีความสามารถหาเงินได้เยอะมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรมากจนเกินไป

หรืออย่างการซื้อบ้าน แม้ผลสำรวจจะบอกว่าหนี้บ้านไม่ได้ทำให้ความสุขของเราลดลงแต่มันก็ไม่ควรจะเป็นรายจ่ายที่เกินตัวในแต่ละเดือน การตัดสินใจซื้อบ้านไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารจะให้กู้เท่าไหร่ แต่มันควรจะขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจ่ายไหวโดยที่ไม่กระทบความเป็นอยู่ในแต่ละวันได้เท่าไหร่มากกว่า

ธนาคารไม่สนนะครับว่าคุณมีความสุขรึเปล่า เราต้องตัดสินใจเอง

3. ใครรู้ตัวว่าเป็นตั๊กแตนก็ควรยิ่งระวังตัว

สิ่งแรกที่ตั๊กแตนควรทำเมื่อรู้ตัวว่าช่วงหน้าหนาวจะอดตายคืออะไรครับ?

เชื่อว่าทุกคนตอบได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้พฤติกรรมของตัวเองกำลังเป็นไปในทิศทางที่ไม่สมควร ก็หยุดสร้างหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยๆ วางแผนหาทางออก

ถ้ารู้ว่าเราเป็นเป็นเหยื่อการตลาดได้ง่าย ก็ลบแอปชอปปิงในมือถือทิ้งไปก็ได้ หรืออาจจะเลือกใช้บัตรเดบิตแทนบัตรเครดิต

“อยากมีความสุขมากขึ้น ก็ให้เริ่มเก็บเงิน” บรูคส์อธิบายเสริมว่าการมีเงินเก็บออมไม่ต้องถึงขั้นว่ามีเยอะก็สามารถเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของเราได้ เพราะการเก็บออมเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเราในปัจจุบันกับอนาคตที่ดีขึ้น และทำให้เห็นว่าเรากำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องนั่นเอง (Progress Principle)

แล้วคนที่มีความสุขมากกว่าส่วนใหญ่ทำอะไร? บรูคส์บอกว่าพวกเขาก็ยิ่งออมเงินมากขึ้นอีกไปด้วย เป็นการสร้างห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลระหว่างการเก็บออมและความสุข มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2012 ที่พบว่าคนที่มีความสุขมากกว่าค่าเฉลี่ยจะใช้จ่ายน้อยลงและเก็บออมมากขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าสำหรับใครที่เป็นตั๊กแตนอยู่ อย่ามัวแต่หลงระเริงกับแสงแดดของฤดูร้อน เริ่มเก็บออมแม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยทำให้มีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เก็บออมมากขึ้นและยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก และที่สำคัญเมื่อฤดูหนาวมาเยือน ก็ไม่ต้องอดตายด้วยอีกต่างหาก