สำหรับคนที่อยากสร้างบ้าน หรืออยากแต่งบ้าน ‘บุญถาวร’ ก็มักเป็นที่แรกๆ ที่คนจะนึกถึง เพราะอยู่มานานพอจนคนจะจำชื่อได้แล้ว ซึ่งเป็นเวลากว่า 47 ปีแล้ว นับจากวันที่บุญถาวรเปิดกิจการ โดยคุณณวิวัฒน์ ทยานุวัฒน์ ในชื่อ ‘บริษัท บุญถาวรวัสดุภัณฑ์ จำกัด’ สู่เป้าหมาย ‘ศูนย์รวมวัสดุ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร’

ในตอนนี้ บุญถาวรขยายสาขาออกไปกว่า 50 สาขา ทั้งในรูปแบบร้านค้าปลีก และแฟรนไชส์ที่ร่วมทุนกับกลุ่ม SCG ซึ่งนอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังมีเวียดนาม และกัมพูชา ทั้งยังเดินหน้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเรียบร้อย เรียกได้ว่าบุญถาวรที่เรารู้จักจะยิ่งเติบโตมากขึ้นไปอีก

โดยวันนี้ aomMONEY อยากพามาเจาะลึกธุรกิจแห่งนี้กัน

🚗 “ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น”

สโลแกนที่สื่อความหมายของกลยุทธ์ธุรกิจบุญถาวรได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงเริ่มต้นนั้น บุญถาวรเกิดขึ้น และเติบโตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจจึงต้องเป็นผู้เดินไปหาลูกค้า ไม่ใช่รอให้ลูกค้ามาหาเพียงอย่างเดียว

บุญถาวรจึงเริ่มเดินหน้ากลยุทธ์ ‘บุญถาวร 4 มุมเมือง’ เพื่อกระจายตัวเข้าสู่ชุมชนในหลากหลายพื้นที่ โดยได้เริ่มเปิดสาขาใหม่ๆ เช่น ปิ่นเกล้า (2537) และบางนา (2538) ทั้งยังกระจายไปยังสี่ทิศในกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดสาขาไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

ขณะเดียวกันก็ยังเปิดไลน์สินค้าใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ เครื่องใช้ในห้องครัว ไปจนถึงวัสดุใหม่ๆ อย่างหินอ่อน และหินแกรนิต ที่นอกจากจะเน้นเรื่องการใช้งานที่ครอบคลุม ยังโฟกัสไปยังความสวยงาม เทรนด์ความชอบของลูกค้า และความคงทนในการใช้งานด้วย

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต บุญถาวรเรียกได้ว่าเป็นเจ้าแรกๆ ในกลุ่มธุรกิจที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาบริหารธุรกิจ และส่วนงานต่างๆ เช่น

➡️ ระบบจัดการบัญชี Enterprise Resource Planning (ERP)
➡️ ระบบ E-Library Catalogue ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพเสมือนจริงของสินค้า และการออกแบบห้องได้
➡️ โปรแกรมบริหารคลังสินค้า Warehouse Management System หรือ WMS เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าว่าจะได้รับสินค้าตรงตามกำหนด

🔥 ยกเครื่องกลยุทธ์การตลาด ผ่าน 3 ความแข็งแกร่งของบุญถาวร ที่ฝ่าความดุเดือดในสนามการแข่งขันมาได้

ในช่วงปี 2551 เป็นช่วงที่ธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ และของตกแต่งบ้านเกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งจากในและนอกประเทศ ผสมรวมกับสภาพเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนอย่างหนัก ได้กลายเป็นโจทย์ให้ธุรกิจทั้งหมดในสนามแข่ง หรือกระทั่งบุญถาวรเอง ที่ต้องเอาตัวรอดได้ยังไม่พอ แต่ต้องได้ใจลูกค้าด้วย

เพื่อรักษาอันดับต้นๆ ของผู้นำในตลาดเอาไว้ ทางบุญถาวรจึงแก้เกมด้วยการยกเครื่อง ‘กลยุทธ์การตลาดใหม่’ โดยใช้ข้อมูลต่างๆ เช่น ตัวเลขสถิติ และเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์เพื่อดูความชอบของลูกค้า ในการตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้แตก

💪 1. สร้างภาพลักษณ์การตลาดใหม่ที่ทันสมัย และเข้าถึงง่ายกว่าในอดีต เพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้แม้จะมีคู่แข่งมากมาย ตั้งแต่การใช้ชื่อภาษาไทยที่มีเอกลักษณ์ ไปจนถึงตัวสินค้าที่อิงตามเทรนด์ อย่าง Modern Style หรือ Minimalism

💪 2. เริ่มใช้แนวคิด Customer Loyalty อย่างระบบบัตรสมาชิก เพื่อรักษาฐานลูกค้าด้วยการดึงดูดโดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับสมาชิกบุญถาวรโดยเฉพาะ

💪 3. ทุ่มเทพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ให้มีทักษะความสามารถในหน้าที่ของตนสูงขึ้น เพื่อยกระดับภาพรวมของแบรนด์ในทุกมิติ ตั้งแต่การออกสินค้าใหม่ๆ ไปจนถึงการให้บริการลูกค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง ถามอะไรตอบได้ ไม่ต้องเสิร์ชข้อมูลเองเพิ่ม

บุญถาวรยังได้เพิ่มช่องทางการขายมากมาย เพื่อตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยพัฒนารูปแบบการขายแบบ Omni Channel ด้วยการเปิดตัวร้านค้าออฟฟิเชียลบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชต่างๆ เช่น Shopee Tiktok และ Lazada โดยมีสมาชิกในเครือ ‘บุญถาวร แฟมิลี่’ มากกว่า 1,000,000 ราย

แต่ก็ยังไม่ทิ้งการขายแบบออฟไลน์ที่หน้าร้านสาขา โดยยังทุ่มเทพัฒนาส่วนการขายต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อของแต่งบ้าน

🏠 ครอบคลุมทุกความต้องการเรื่อง ‘บ้าน’

ปัจจุบันแบรนด์ในเครือ บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BOON’ จะแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม

🚚 1. ธุรกิจจัดหาสินค้า

1. บริษัท เวิลด์เซรามิคเซ็นเตอร์ จำกัด ‘WCC’: จัดหา และนำเข้ากระเบื้อง
2. บริษัท ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ อินดัสตรี จำกัด ‘CFI’: ผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องครัว
3. บริษัท บุญถาวร ซอร์สซิ่ง จำกัด ‘BSC’: จัดหา และนำเข้าสุขภัณฑ์

🚚 2. ธุรกิจค้าปลีก

1. บริษัท บุญถาวร ไลท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด ‘BLC’: นำเข้า และจำหน่ายโคมไฟ
2. บริษัท บุญถาวร เซ็นทรัลโฮม (โคราช) จำกัด ‘BTKR’: ร้าน SCG Home
3. บริษัท เอสซีจี – บุญถาวร โฮลดิ้ง จำกัด ‘SCG-BTV’: ดูแลแบรนด์ SCG Home ในไทย เวียดนาม และกัมพูชา
4. บริษัท บุญถาวร ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ จำกัด ‘BLF’: นำเข้า และจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์
5. บริษัท บุญถาวร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ‘BIT’: จำหน่ายสินค้าแก่ผู้ประกอบการ (B2B)

🚚 3. ธุรกิจสนับสนุน และอื่นๆ

1. บริษัท บุญถาวรดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ‘BTD’: รับเหมาก่อสร้างร้านค้าปลีก
2. บริษัท คันทรี โร๊ด ทรานสปอร์ต จำกัด ‘CRT’: บริการขนส่งภายในกลุ่มธุรกิจ

โดยในปัจจุบันบุญถาวรมีสินค้ากว่า 90,000 รายการที่จัดจำหน่ายทั้งภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่ผลิตเอง และว่าจ้างผู้ผลิตภายนอก ไปจนถึงสินค้าภายใต้แบรนด์อื่นๆ ในเครือ โดยรายได้จากการขายสินค้าต่างๆ และการให้บริการเป็นสัดส่วนกว่า 97.5% ของรายได้ทั้งหมด

จากรายงานการสำรวจกลุ่มธุรกิจ วัสดุ และของแต่งบ้านของ Euromonitor ที่ปรึกษาด้านการตลาดอิสระ พบว่า ในปี 2565 ยอดขายกระเบื้องของบุญถาวรครองสัดส่วนในตลาด 22.1% และยอดขายสุขภัณฑ์ครองสัดส่วนในตลาด 33.51%

💰 รายได้ และผลกำไรของ บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปี 2564 รายได้ 11,554 ล้านบาท กำไร 204 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 13,048 ล้านบาท กำไร 404 ล้านบาท
9 เดือนแรกปี 2566 รายได้ 10,339 ล้านบาท กำไร 214 ล้านบาท

🏗️ เดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เสริมแกร่งธุรกิจ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน ‘ครบเครื่องเรื่องบ้าน’

บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BOON ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น

การเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ บุญถาวรมองว่า จะเป็นการเสริมศักยภาพ และความแข็งแกร่งแก่การดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘Ideas Come Alive’ สู่วิสัยทัศน์ ‘Live Good Ecosystem’ มุ่งพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านสินค้า และนวัตกรรมการอยู่อาศัย เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น และสังคมที่ยั่งยืน