ในหนังสือ ‘นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์’ เป็นนิยายการลงทุนที่เล่าถึงชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ฌอน’ ผู้ผิดหวังมาจากการเก็งกำไรหุ้นในอดีต วันหนึ่งพบกับชายชรานักตกปลา ผู้เก่งกาจด้านการลงทุนชนิดที่ชายหนุ่มคาดไม่ถึง หลังจากนั้นฌอนก็ได้เรียนรู้หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจากชายชราคนนี้

มีบทหนึ่งที่นำเสนอเรื่อง ‘การแข่งขันและความได้เปรียบ’ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ (บทที่ 12-13)

ชายชราท้าฌอนให้มาตกปลาแข่งกันหนึ่งชั่วโมง แล้วดูว่าใครได้ปลามากกว่ากันชนะ

ปลาทุกตัวที่ฌอนตกได้มากกว่า ชายชราจะให้เงิน 1,000 เหรียญ

สมมุติว่าครบหนึ่งชั่วโมงฌอนได้ 5 ตัว ชายชราได้ 3 ตัว ฌอนก็จะได้เงิน 2,000 เหรียญ (5-3 = 2)

แต่ถ้าฌอนแพ้ก็แค่เลี้ยงเบอร์เกอร์กับโค้ก ชายชราก็พอ, เป็นดีลที่ดี ฌอนตกลงทันที

พอเริ่มแข่ง ฌอนก็มุ่งมั่นเลย ตกปลาได้เรื่อยๆ ชายชราก็ตกได้แต่น้อยกว่า เมื่อเวลาผ่านไปใกล้ครบชั่วโมง ฌอนเห็นแล้วว่าเขาน่าจะชนะแน่ๆ แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น

ปรากฏว่าสักพักชายชราเดินไปดึงแหที่หว่านเอาไว้ก่อนแล้วขึ้นมา ซึ่งในนั้นมีปลาเต็มเลย

แน่นอนชายชราเป็นฝ่ายชนะไป เพียงแต่เหตุการณ์นี้ทำให้ฌอนไม่พอใจอย่างมาก บอกว่าไม่แฟร์เลย เล่นใช้แหสู้กับเบ็ด “มันไม่ยุติธรรมเลย การแข่งขันแบบนี้ถือเป็นโมฆะ” ฌอนระเบิด

แต่นี่แหละคือโลกของธุรกิจและการแข่งขัน

บทเรียนสำคัญสำหรับนักลงทุนคือ “การเลือกผู้ชนะในการแข่งขัน” ให้ได้

Apple ยอมถอยจากตลาด EV

หลังจากซุ่มทำโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาสิบกว่าปี ข่าวล่าสุด Apple เหมือนจะยอมยกธงขาว ล้มโครงการ EV ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย

หุ้นเด้งทันทีเกือบ 2% แสดงว่าทั้ง Apple และ นักลงทุนมองเห็นแล้วว่า การตัดสินใจครั้งนี้คือสิ่งที่ดีต่อบริษัทในอนาคตอย่างชัดเจน

เพราะว่ากันตามตรงถึงตรงนี้สงครามในตลาดการแข่งขันรถ EV นั้นเดือดมาก เรียกว่าตัวพ่ออย่างเทสลา (Tesla) หนึ่งใน ‘หุ้นนางฟ้าทั้ง 7’ (“Magnificent 7”) เองก็ยังเหนื่อย

ดูง่ายๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ร่วงไปแล้วเกือบ 20% จาก 249 เหรียญ/หุ้น -> 200 เหรียญ/หุ้น

ปีล่าสุดเทสลารวมขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1.8 ล้านคัน ถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนที่ตามมาคือ BYD ที่ 1.57 ล้านคัน ห่างกันประมาณ​ 230,000 คันเท่านั้น

แต่ว่าถ้าดูแค่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 BYD กลับขายได้เยอะกว่าเทสลา (525,409 คัน กับ 484,507 คัน)

เรียกว่า BYD หายใจรดต้นคอเทสลาก็คงไม่ผิดนัก และเริ่ม ‘มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน’ ในด้านราคามากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงขั้นว่าเทสลาก็ออกมายอมรับว่ายอดขายในปีนี้อาจจะตกลงมากกว่าเดิม ส่วน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก็ให้ความเห็นเช่นกันว่าค่ายรถยนต์จากจีนสามารถทำลายล้างค่ายรถยนต์คู่แข่งทั่วโลกได้เลยหากไม่มีการ ‘ตั้งกำแพงการค้า’

Competitive Advantage หรือ Economic Moat

ชายชราบอกฌอนว่า "ก่อนหน้านี้ เธอถามฉันว่าธุรกิจแบบไหนที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะซื้อ คำตอบก็คือ เราซื้อผู้ที่จะชนะอย่างแน่นอน และหลีกเลี่ยงที่เหลือ"

ถ้าเปรียบการแข่งขันตกปลาเมื่อกี้เป็นโลกของธุรกิจ และฌอน กับ ชายชรา เป็นสองบริษัท แน่นอนเราจะซื้อบริษัทของชายชรา เพราะ ‘เขาชนะแน่ๆ’ เพราะใช้แหจับปลา ขณะที่ฌอนใช้เบ็ดจับปลา

ชายชราพยักหน้าแล้วบอกว่า “ในโลกธุรกิจ ความได้เปรียบอย่างชัดเจนที่เธอพูดถึงนั้น เราเรียกกันว่า ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) หรือเธอสามารถเรียกว่า คูเมืองทางเศรษฐกิจ (Economic Moat) ก็ได้"

เพราะฉะนั้นการจะเลือกลงทุนในธุรกิจ ก็ควรจะเลือกที่มันมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน ตราบใดที่มันยังชนะได้ ไม่ว่าคู่แข่งจะออกมาโวยวายว่าไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม (เหมือนที่ฌอนทำ) ผูกขาด ก็ตาม

ประเด็นที่สำคัญคือความได้เปรียบนี้อาจจะไม่ได้เห็นอย่างชัดเจน มันอาจจะไม่ได้เขียนออกมาในงบการเงินของบริษัท แต่นักลงทุนเองหรือบริษัทที่คิดจะเข้าไปแข่งขันในตลาดก็ต้องดูด้วยว่าคู่แข่งนั้นมีความได้เปรียบตรงไหนบ้าง

ชายชรายิ้มแล้วบอกว่า “ก็คล้ายกับ 'แหจับปลา' ที่ซ่อนอยู่" นั่นแหละ

ในกรณีของ Apple ถ้าไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่แปลกใหม่หรือแตกต่างออกไปเลย (Differentiation) การเข้าปะทะกันตรงๆ กับบริษัท EV จีนที่เป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีด้วยต้นทุนการผลิตและเสนอราคาที่ต่ำกว่าอาจจะเสียหายมากกว่าได้ ดูขนาดเทสลายังหนาวๆ ร้อนๆ

ดูเหมือนว่า Apple น่าจะเห็น ‘แหจับปลา’ ที่ผู้นำตลาด EV ซ่อนอยู่แล้ว