UN ประเมินในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 คือวันที่โลกมีประชากรแตะ 8,000 ล้านคนเป็นครั้งแรก จาก 7,000 ล้านคนเมื่อปี 2010 ซึ่งถือว่ามาไกลมากจาก เพียง 2,500 ล้านคนในยุค 50’s แต่การเพิ่มขึ้นครั้งนี้ก็มาพร้อมกับตัวเลขที่ลดลงเช่นเดียวกัน ตอนนี้ผู้หญิงโดยเฉลี่ยแล้วจะมีลูกเพียง 2 คน (บวกลบนิดหน่อย) ซึ่งต่างจากในยุค 50’s ที่มีลูกเฉลี่ยถึง 5 คน และต่อจากนี้ในอนาคตคนก็มีจะอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อย ๆ

ในประเทศจีนล่าสุดประชากรลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งครั้งนั้นก็มาจากปัญหาของความอดอยากหิวโหย อาหารไม่พอ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ช่วงที่ผ่านมาจำนวนประชากรที่เริ่มลดลงและชะลอตัวก็มาจากหลาย ๆ ปัจจัย ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกที่แพงขึ้น หรือบางทีก็เป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันด้วย

ล่าสุดมีเทรนด์หนึ่งที่กำลังเป็นกระแส และหลายคนอาจจะเห็นผ่านตามาบ้างบนโลกออนไลน์ที่เรียกว่า “DINKWAD” ซึ่งย่อมาจาก “Double Income, No Kids, With a Dog” ที่แปลว่า “คู่รักทำงานเลือกที่จะไม่มีลูกแต่มีน้องหมาแทน” นั่นเอง ซึ่งตอนนี้มีคู่รักหลายคู่ที่ออกมาประกาศตัวเลยว่าเป็น DINKWAD อย่างภาคภูมิใจ

อย่างผู้ใช้งานชื่อ Matt Benfield และ Omar Ahmed ทั้งคู่ก็โพสต์วิดีโอบน TikTok บอกว่า

“เสน่ห์ของวิถีชีวิตแบบ DINKWAD นั้นอยู่ที่อิสรภาพทางการเงินและของตัวเองโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆเลย”

ทั้งคู่ชอบเดินทางและไม่คิดเลยว่าอยากจะมีลูกในอนาคต แต่มีไปรับน้องหมาจรจัดจากสถานสงเคราะห์สัตว์มาเลี้ยงด้วยกันหนึ่งตัว ซึ่งถ้าเข้าไปดูใน TikTok จะเห็นเลยว่าไม่ใช่แค่คู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น เราเห็นคู่รักมากมาย หลายเพศสภาพ หลายพื้นที่ของโลก ที่เชื่อในวิถีชีวิตแบบนี้ ทุกคนก็ดูมีความสุข เดินทาง ใช้ชีวิตกันตามปกติ โดยมีน้องหมาคอยมาสร้างรอยยิ้มให้เสมอ มีคนมาคอมเมนต์ตอบในวิดีโอของ Matt Benfield และ Omar Ahmed บอกว่า

“เป้าหมายในชีวิต ลูกน่ะเหรอ?​ไม่เอาหรอก น้องหมา?​ ใช่แน่นอนเป็นพัน ๆ ครั้ง”

Pamela Aronson ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและเครือข่ายสตรีและเพศศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย University of Michigan-Dearborn กล่าวกับ Insider ว่า “ไอเดียนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโซเชียลมีเดีย มีการยอมรับมากขึ้นในการไม่มีลูก การไม่มีลูกก็เริ่มไม่ได้เป็นเรื่องที่มลทินขนาดนั้นแล้ว”

กระแสนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมกำลังปรับเปลี่ยนรูปร่างของความฝันและเป้าหมายในชีวิตของคนรุ่นใหม่ เหล่าคนยุค Millenials แต่งงานช้าลง บางคนเลือกที่แต่งงานช้าเพราะอยากสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ได้ก่อน บางคนเลือกที่จะไม่แต่งงานเลยด้วยซ้ำ การเป็นเจ้าของบ้าน หรือที่ดินในบางส่วนของโลกแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปด้วยภาวะของตลาด การมีครอบครัว มีลูกเป็นสิ่งที่ใช้เงินมหาศาล อัตราการเกิดของทารกชะลอตัว จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นเทรนด์อย่าง DINKWAD เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

Benfield ซึ่งก็เป็นชาว Millenial คนหนึ่งกล่าวว่า

“ยุคของเราและ Gen Z ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยไม่มีเงินที่จะดูแลตัวเองแล้ว อย่าไปพูดถึงการมีลูกเลย เงินจ่ายค่าเช่าบ้านก็แทบไม่พอ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารทุกอย่างแพงมาก ไอเดียของ DINKWAD คือการที่คุณมาจัดการตัวเองก่อนที่จะมีลูกหรืออะไรก็ตาม”

มันเป็นทางเลือกของชีวิต

Nicole Valdez ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักพิมพ์วัย 37 ปี ซึ่งเติบโตมากับความคิดที่ว่าเธอจะแต่งงานและมีลูก — นั่นความคิดที่คนรอบ ๆ ตัวฝังไว้ในหัวเธอมาตลอด หลังจากที่เธอย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ของเธอเป็นครั้งแรก เธอก็ได้สุนัขมาอยู่เป็นเพื่อน “ฉันคิดว่าอนาคตก็ยังจะมีน้องหมาอยู่ตลอดไป”

เธอเล่าให้กับสื่อ Business Insider ฟังว่าพอเริ่มแก่ตัวมากขึ้นก็เจอกับความจริงทางเศรษฐกิจจนไม่คิดถึงลูกอีกเลย เพราะรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยในเรื่องการเงิน ตอนที่เจอแฟนคนปัจจุบัน ก็บอกไปตรง ๆ เหมือนกันว่ามองไม่ออกเลยว่าตัวเองอยากจะมีลูกในอนาคต แม้ว่าเวลาอยู่กับเด็กคนอื่น ๆ ก็มีความสุขดี

“ในช่วงวัยยี่สิบต้น ๆ ตอนที่คนอื่น ๆ พูดเรื่องการมีลูก ฉันก็จะบอกว่าตัวเองยังแทบดูแลตัวเองเรื่องการเงินยังไม่ได้เลย จะเลี้ยงดูลูกได้ยังไง คนอื่น ๆ ก็จะพูดเสมอว่าเดี๋ยวก็หาทางได้เองแหละ ฉันก็ยังคิดเสมอนะว่ามันเป็นอะไรที่แปลกดี เพราะมันไม่ใช่ว่าจะหาทางได้เองนะ คุณต้องวางแผนสิ”

ต่อมาหลายปี เธอกับแฟนก็เจอปัญหาเรื่องรายได้ที่หยุดนิ่งไม่เติบโต จนเมื่อไม่นานมานี้เองที่เริ่มจะดีขึ้น แค่นี้ก็ยากแล้วที่จะใช้ชีวิตในปัจจุบัน การมีลูกเป็นเรื่องที่เกินเอื้อมไปเลย ตอนนี้เพิ่งได้เริ่มมองหาบ้านกันเอง

“การตัดสินใจที่จะไม่มีลูก และตัดสินใจที่จะโฟกัสไปยังความสนใจของเรา ความต้องการในชีวิต ช่วยให้เรามีอิสระมากขึ้น มันคือการใช้เวลาบนโลกนี้อย่างเต็มที่ในตอนนี้เลย แทนที่จะรอจนกว่าลูกโตหรือเราเกษียณ​ ถ้าเราได้เกษียณด้วยนะ”

ตอนนี้จากรายงานของ The Wall Street Journal บอกว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งในอเมริกาจนโตเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ที่ราว ๆ 300,000 เหรียญ (หรือราว ๆ 10 ล้านบาท) ในส่วนของบ้านเราทางเครดิตบูโรบอกว่าการมีลูกหนึ่งคนนั้นถ้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลก็อยู่ที่ราว 350,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึงจบปริญญาตรี แต่ถ้าเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศก็แตะ 15 ล้านบาท ได้เช่นเดียวกัน

แม้จะฟังดูแย่ แต่ความเป็นจริงมันโหดร้าย ไม่ว่าจะอยากยอมรับหรือไม่ก็ตาม โลกในปัจจุบันเด็กเกิดมาโดยที่ผู้ปกครองไม่สามารถส่งให้เรียนหรือไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่นั้นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในสังคมที่แข่งขันกันสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อโตขึ้นยิ่งเห็นได้ชัด การศึกษา โรงเรียน เครือข่ายสังคมล้วนเอื้อต่อครอบครัวที่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียนดี ๆ ไม่ได้หมายความว่าเด็ก ๆ ที่เกิดมาในครอบครัวยากจนแล้วจะไม่สามารถก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เพียงแต่ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือไม่มีแต้มต่อทางสังคมเสียโอกาสและเสียเปรียบซะเป็นส่วนใหญ่

คู่รักบางคู่ไม่ใช่ไม่อยากมีลูก แต่มีไม่ได้มากกว่า แม้ว่าจะทำงานกันสองคนแล้วก็ตาม รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ค่าใช้จ่ายรอบ ๆ ตัวทุกอย่างแพงหมด เพราะฉะนั้นการเลี้ยงน้องหมาที่ใช้ค่าใช้จ่ายและดูแลน้อยกว่าจึงเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตของคู่รักในปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย การใช้ชีวิตที่ ‘มั่นคง’ และ ‘มีความสุข’ เท่าที่จะทำได้จึงกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า

======

Business Insider

CNN

TikTok

Business Insider

Business Insider

Business Insider

Census.gov

Business Insider

NCB

The Wall Street Journals