วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาเป็นอีกวันหนึ่งทีมงาน aomMONEY ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับ "FinTech" ความท้าทายในโลกกาเงินในยุคดิจิทัล งานสัมมนา  KRUNGSRI EXCLUSIVE Economic and Investment Mid Year Outlook 2018 ที่จัดโดย KRUNGSRI EXCLUSIVE ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอะไรที่ “EXCLUSIVE” สมชื่อจริงๆ เพราะนอกจากสถานที่จัดงานคือโรงแรมสุดหรูใจกลางเมืองอย่างสยามเคมปินสกี้แล้ว และเหล่านักลงทุนที่ได้รับเชิญกันมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่งแล้ววิทยากรที่มาพูดในงานนี้เป็นล้วนคนมีชื่อเสียงทั้งนั้น

  • คุณกรณ์ จาติกวณิช - ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • คุณฐากร ปิยะพันธ์ – ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • Mr. Andrew Slimmon - Managing Director at Morgan Stanley Investment
  • คุณศิริพร สินาเจริญ - กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด

งานนี้เป็นงานที่น่าสนใจ และมีประโยชน์กับนักลงทุนที่ทาง KRUNGSRI EXCLUSIVE เชิญมาร่วมงานมากเลยนะครับ ซึ่งทางทีม aomMONEY เองก็สังเกตว่า มีนักลงทุนและกูรูชื่อดังหลายท่านมาร่วมรับฟังในงานนี้ด้วยเช่นกัน

ในงานนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป โดยช่วงแรกจะเน้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการปรับตัวของธนาคาร นั่นคือช่วงของ “FinTech  และความท้าทายของประเทศไทยในโลกยุคดิจิตอล”

และในช่วงที่สองจะเป็นช่วงของการลงทุนแบบล้วนๆ โดยจะมีการเล่าภาพรวมการลงทุนในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และแนวทางสำหรับนักลงทุนในการลงทุนครึ่งปีหลังให้อิงกับสถานการณ์โลก ในช่วงของ “Is it time for investors to scale black risk?”

ซึ่งวันนี้ทางทีมงาน aomMONEY ก็ไม่พลาดที่จะเก็บข้อมูลสำคัญๆ และภาพบรรยากาศ ในช่วงของ FinTech และความท้าทายของประเทศไทยในโลกยุคดิจิตอล มาฝากให้เพื่อนๆ ได้ติดตามกัน ให้รู้สึกเหมือนอยู่ด้วยกันในงานเลยทีเดียว ช่วงนี้วิทยากร ได้แก่ “คุณกรณ์ จาติกวณิช” ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอมจำกัด เรียกได้ว่าไม่มีใครในวงการ FinTech ในประเทศไทยที่ไม่รู้จักแน่นอน

และวิทยากร อีกท่านก็คือ “คุณฐากร ปิยะพันธ์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยพิธีกรดำเนินรายการก็คือ “คุณแบงค์ พชร ปัญญายงค์” พิธีกรชื่อดังที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีนั่นเองครับ

FinTech คืออะไร?

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า FinTech ว่าคืออะไร ขอเกริ่นสักนิดครับว่า มันคือการเงินรูปแบบใหม่ยุคดิจิตอลที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในด้านการเงิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการด้านการเงินอย่างสิ้นเชิง หรือที่เราเรียกว่า “Disrupt” หากใครได้ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีอยู่บ้าง จะรู้ว่าช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีนั้นพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะกระแสของ FinTech ที่ถือว่าเป็นอะไรที่ใกล้ตัว และมาแรงที่สุดเลยก็ว่าได้

ยกตัวอย่าง เช่น ตอนนี้ จีนกำลังผลักดันเมืองเทียนสินเป็นเมือง “Cashless” หรือที่เรียกว่า “สังคมไร้เงินสด” ที่อังกฤษเองก็มีธนาคารที่เป็น Pure Internet Bank ซึ่งในไทยยังไม่เห็นแนวโน้มเท่าไหร่

สถานการณ์ FinTech ในประเทศไทย

ต้องขอบอกตรงๆเลยครับว่า ปีนี้เองถือเป็นปีที่เทคโนโลยีและ FinTech เข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันเองก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยเช่นกัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัดๆ ก็คือ ในปีนี้ธนาคารในประเทศ ต่างพร้อมใจกันปรับลดธนาคารสาขา และ ตู้ ATM ลง และประกาศฟรีค่าธรรมเนียมการโอน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เริ่มเข้าสาขาของธนาคารน้อยลง มีการทำธุรกรรมการเงินในมือถือมากขึ้น  (ประเทศไทยถึงขนาดติดอันดับเป็นประเทศที่ใช้ Mobile Banking อันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว)

เพราะสะดวกกว่าไปสาขาของธนาคาร ทำได้ทุกที่ทุกเวลาแถมประหยัดเวลากว่าเยอะ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของธนาคารได้ ทำให้ผลประโยชน์ตกเป็นของผู้ใช้บริการไปเต็มๆ อีกทั้งยอดผู้ใช้บริการ “พร้อมเพย์” ที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด แสดงให้เห็นว่า ธนาคารและผู้คนภายในประเทศไทยกำลังเริ่มปรับตัวเข้าสู่ ”สังคมไร้เงินสด” อย่างชัดเจน

แต่ Mobile Banking หรือ พร้อมเพย์ ก็เป็นเพียงเสี้ยวนึงของ FinTech ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว FinTech ที่เกิดในประเทศไทยนั้น มีอยู่ 3 ประเภทที่เห็นชัดๆ ได้แก่

  • ประเภทบริหารหนี้ เช่น แบรนด์ Refinn ที่เข้ามาช่วยเรื่องการบริหารจัดการหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการรีไฟแนนซ์
  • ประเภทประกัน เช่น “Claim Di” (เคลมดิ) Mobile Application ที่ช่วยให้คนขับรถ สามารถทำเคลมประกันภัยได้ด้วยตนเอง แบบรวดเร็ว ทันใจ เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส โดยไม่ต้องรอประกันอีกต่อไป
  • ประเภทแนะนำการลงทุน เช่น Finnomena

นอกจากนี้ยังมี StartUp FinTech อีกมากที่กำลังผลักดันตัวเอง แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมากครับที่ยังไม่สามารถทำได้ เพราะด้วยกฎหมายไทยยังไม่รับรอง ณ ปัจจุบัน เช่น การกู้ยืมระหว่างบุคคุล การทำประกันแบบกลุ่มที่รวมเงินกองกลางกับเพื่อน เป็นต้น

อะไรคืออุปสรรคของ FinTech ของประเทศไทย?

แน่นอนว่าสถานการณ์ FinTech ในประเทศไทย อุปสรรคสำคัญยังเป็นเรื่อง “ทัศนคติ” ของทางการครับ โดยเฉพาะผู้คุมกฏหมายที่ออกกฏเกณฑ์ เพราะกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ถือว่ายังล้าหลังอยู่มาก เช่น Uber และ Grab ก็ยังไม่ถูกกฎหมายสักที จนกระทั่งตอนนี้ Uber ได้ถอนตัวไปจากประเทศไทยด้วยประเด็นนี้นั่นเอง

ก้าวต่อไปของธนาคารในยุค FinTech

อย่าลืมว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนการลงทุนเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้มากเท่านั้นเพราะข้อจำกัดสำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่ปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยก็เข้าถึงการลงทุนได้

คำถามที่ตามมาคือ "ถ้าวันใดประเทศไทยมีการปรับแก้ข้อกฎหมายให้รองรับการนำ FinTech เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันแบบเต็มรูปแบบและธนาคารกลัวอะไร? และจะปรับตัวอย่างไร?"

คำถามนี้ถือเป็นคำถามที่ทีมงาน aomMONEY คิดว่าน่าสนใจที่สุดคำถามนึงเลยก็ว่าได้ ซึ่ง คุณฐากร ปิยะพันธ์ ตอบไว้แบบชัดเจนว่า “อนาคตอีก 10-20 ปี ธนาคารพาณิชย์จะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสามารถตอบได้ ลองคิดดูว่าขนาด 70 ปีที่ผ่านมาธนาคารไม่เคยไม่เก็บค่าธรรมเนียม แต่ตอนนี้ทุกธนาคารแทบไม่เก็บค่าธรรมเนียมแล้ว

โลกทุกวันนี้หมุนเร็วมาก องค์กรอย่างธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยถือเป็นองค์กรที่ใหญ่มากเวลาจะขยับก็ต้องใช้เวลาดังนั้น “Speed of Change” คืออุปสรรคของธนาคารและเป็นเรื่องที่ธนาคารกลัว สิ่งที่ทำได้คือพยายามปรับตัวให้เร็วที่สุด และมอง FinTech เป็น Partner มากกว่าคู่แข่ง”

โดยคุณฐากรเล่าว่า เมื่อก่อนเคยคิดว่า FinTech เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคาร เพราะเทคโนโลยีธนาคารอาจยังมีช่องว่างมีและต้นทุนที่สูง FinTech จึงเห็นโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดในจุดนี้ แต่เมื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ FinTech แบบจริงจังจึงเปลี่ยนความคิดว่า FinTech เนี่ยแหละ จะมาเป็น Partner ของธนาคาร ธนาคารในประเทศไทยยังได้เปรียบในแง่ความความเชื่อใจ ความมั่นใจ ความปลอดภัย และมีสิ่งที่เป็นสินทรัพย์สำคัญนั่นคือ “ข้อมูล”

FinTech จะมาช่วยลดทอนขั้นตอนที่ธนาคารทำไม่ได้

ผู้ใช้บริการทำธุรกรรมต่างๆ ได้รวดเร็วและง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของธนาคารอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะไปอยู่กับผู้ใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตอาจธนาคารก็อาจปล่อยสินเชื่อให้กับคนหลายๆระดับได้มากขึ้น เช่น แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว หรือ วินมอเตอร์ไซค์ เพราะเดี๋ยวนี้มี App รองรับเป็นหลักฐานที่มารายได้ชัดเจนมากขึ้น เปลี่ยนการให้น้ำหนักของ Statement มาที่ Information แทน ดังนั้นในอนาคตจะเป็นการแข่งขันโดยใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ และใช้ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น เสนอผลิตภัณฑ์ตรงใจ และถูกเวลา

นั่นหมายความว่า หลังจากนี้เราจะไม่โดนโทรมาขายประกันและบัตรเครดิตอีกแล้วครับ ถ้าเราไม่ต้องการ(ฮา)

ด้าน คุณกรณ์ จาติกวณิช เองก็เสริมคุณฐากร ว่า ตอนนี้จีนคือผู้นำ “Cashless” อย่างแท้จริง บางเมืองแทบไม่มีการใช้เงินสดแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่สามารถวัดวัดกันด้วยเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมด้วย เช่น เยอรมันแม้เศริษฐกิจจะดี แต่ก็ยังนิยมใช้เงินสดอยู่ แล้วอะไรที่ทำให้จีนก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ได้?

“จริงๆ แล้ว Startup FinTech เกิดขึ้นจาก Pain point ของผู้บริโภค ที่เมื่อก่อนเทคโนโลยีมันยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ทุกวันนี้สามารถแก้ได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสาเหตุที่จีนพัฒนาเรื่องนี้ได้แบบก้าวกระโดดเพราะ ธนาคารจีนไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการได้ พัฒนาตามเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วของประเทศไม่ทัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นธนาคารสามารถเติบโตตามเศรษฐกิจทัน ยังตอบโจทย์คนไทยได้อยู่ คนไทยจึงยัง Happy กับธนาคารและยังไม่มองหา FinTech เท่าไหร่นัก แต่ถ้าจะมองหาก็จะมองหา FinTech ที่ติดแบรนด์ของธนาคารมากกว่าอยู่ดี ดีที่สุดคือธนาคารกลายเป็น FinTech เอง”

ต่างจากประเทศอย่างอังกฤษที่ผู้ใช้บริการให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์ใหม่ถ้าใช้แล้วตอบโจทย์ เช่น ธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบ ข้อดีคือต้นทุนต่ำกว่า ผลตอบแทนดีกว่า แต่ยังไม่ได้รับความสนใจในวงการ FinTech ไทย เพราะ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน

แต่ถ้าในอนาคตประเทศไทยมี FinTech เกิดขึ้นใหม่ ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะสุดท้ายแล้ว FinTech นั้นจะผ่านการคัดกรองโดยธรรมชาติ ถ้าเป็น FinTech ที่ดีมีประโยชน์ก็จะขายออก ถ้าทำแล้วไม่ดีก็ขายไม่ออก ดังนั้นความกังวลส่วนใหญ่จึงอยู่กับสถาบันการเงินมากกว่าว่าจะปรับตัวอย่างไร เพราะถ้าเลือกได้ใครก็ชอบที่มีธนาคารอยู่ในมือถือตัวเอง มากกว่าเดินไปธนาคารอย่างแน่นอน นอกจากนี้ AI และ Chatbot จะมาช่วยในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

คุณฐากรยังย้ำอีกว่า “จีนก้าวหน้าไปมากไม่ใช่แค่เรื่อง payment อีกด้านที่ก้าวหน้ามากคือ "Biometric" การพิสูจน์ตัวตนทำได้ดีมาก น่าจะเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยสามารถเอามาปรับใช้และพัฒนาให้เหมาะคนในประเทศได้อย่างแน่นอน”

โดยมีข่าวดีอีกว่า "ไม่เกินสิ้นปีนี้ผู้ใช้บริการธนาคารในประเทศไทยจะสามารถเปิด บัญชีผ่านมือถือ ด้วยการยืนยันตนเองผ่านเทคโนโลยี Biometric เพียงแค่ 3 นาทีก็เปิดบัญชีได้"

มาถึงตรงนี้บอกเลยว่า เนื้อหาในส่วน FinTech และก้าวต่อไปของธนาคาร นี่ทั้งข้อมูลและเนื้อหาจัดเต็มเข้มข้นมากๆ จนทำให้ทีมงาน aomMONEY อดตื่นเต้นไม่ได้เลยทีเดียว

วันนี้แต่ละธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง?

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในหัวเมืองใหญ่ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเยอะมาก และส่วนใหญ่มีความต้องการใช้ ALIPAY ซึ่งเป็น FinTech ประเภทนึง ดังนั้นผู้ประกอบการก็ต้องใช้ให้เป็น และมีให้ใช้เพื่อรองรับตรงนี้ด้วย ที่สำคัญอย่าลืมว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มีพาสปอร์ต คิดเป็นเพียงประชากรแค่ 7% เท่านั้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีประชากรจีนที่มีพาสปอร์ตถึง 25% เลยทีเดียว

ดังนั้นอย่าลืมหาช่องว่างที่ลงตัวเหมาะสมกับธุรกิจและตอบโจทย์ได้ ก็จะเป็นการสร้างความสุขให้กับทั้งตัวเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กันนั่นเองครับ

ICO (Initial Coin Offering) จะมีผลในประเทศไทยมากแค่ไหน

ในส่วนนี้ทางทีมงาน aomMONEY ขอเล่าก่อนว่า Cryptocurrency คือ สกุลเงินสกุลนึงในรูปแบบของดิจิตอล โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการจัดการ โดยสกุลแรกที่เกิดขึ้นคือ Bitcoin ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่จะใช้แทนเงินแบบเดิมๆ ที่เกิดจากแนวความคิดที่ไม่เชื่อมั่นต่อสกุลเงินของประเทศทั่วโลกที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ Bitcoin มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีเพียง 21 ล้านเหรียญ Bitcoin เท่านั้น (อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Bitcoin เพิ่มเติมคลิก Bitcoin สวรรค์ของนักเก็งกำไร หรือเหวของนักลงทุน!)

สำหรับเทคโนโลยีคือ Blockchain การแชร์ทุกๆ ขั้นตอนของธุรกรรมออกไปให้ทุกคนรู้เหมือนกัน เป็นธุรกรรมที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย (อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Blockchain เพิ่มเติมคลิก Blockchain คืออะไร? ทำไมถึงเขย่าวงการธนาคาร)

แล้ว ICO มีประโยชน์ต่อ Startup มากแค่ไหน?

นี่เป็นที่มา ที่ผมต้องอธิบาย เรื่องของ Cryptocurrency และ Blockchain ไว้ก่อนนะครับ เพราะจริงๆแล้ว ICO นั้นในการระดมทุนผ่านระบบ Blockchain โดยใช้สกุลเงินของ Cryptocurrency แทนสกุลเงินทั่วไป ซึ่งหลักในการประเมิน ICO ก็เหมือนแนวทางประเมินหุ้น ผู้บริหาร แนวทางการทำธุรกิจ ICO หลายๆ เจ้าเวลาระดมทุน ชอบให้ใช้ Crypto สกุลใดสกุลนึง ทำให้ราคาของทั้งสองอย่างมันเกี่ยวเนื่องกัน แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาคนที่ลงทุนไม่ยอมอ่าน White Paper (เปรียบเหมือนหนังสือชี้ชวนของ IPO ว่าธุรกิจนำไปใช้อะไรบ้างนั่นแหละ)

จนทำให้เกิดเหตุการ์ในปัจจุบัน นั่นคือ การเก็งกำไรแบบไร้เหตุผลกันมากเกินไป เมื่อมีคนเห็นช่องทางการทำเงินแบบนี้ ก็มีนักธุรกิจบางรายได้ออก ICO แบบแย่ๆมาเพื่อหวังกำไรระยะสั้น ส่งผลให้ราคาของ Crypto currency หลายสกุลราคาตกลงแบบน่าใจหายนั่นเอง นอกจากนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีกฏหมายมาควบคุมเรื่องนี้

ดังนั้นถ้าเพื่อนๆ คนไหน อยากลงทุนใน Cryptocurrency หรือ ICO แนะนำให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ลองลงทุนแบบลองสนาม อย่าเพิ่งกระโดดเข้าไปแบบจริงจัง เพราะยังไม่มีใครสามารถคาดคำนวณได้นะครับ

สำหรับวันนี้ผมและทีมงาน aomMONEY คงต้องขอลากันเพียงเท่านี้ แต่หากใครสนใจ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KRUNGSRI EXCLUSIVE มากกว่านี้่ล่ะก็ คลิกที่ลิ้งค์นี้ได้เลย https://bit.ly/2Kwj441

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY