เรื่องเงินเดือนเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ แต่ไม่มีใครกล้าถาม และหลายคนก็ไม่ได้อยากบอก

แต่สำหรับ แฮนนาห์ วิลเลียมส์ (Hannah Williams) มันคือ “อาชีพ” ของเธอก็ว่าได้

เดือนมิถุนายน 2022 วิลเลียมส์ในวัย 26 ปี ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในตำแหน่งนักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบเต็มเวลา แน่นอนมันเป็นอาชีพหลาย ๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะทำแล้วประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ทำให้วิลเลียมส์ตัดสินใจแบบนั้นก็เพราะก่อนหน้านั้นประมาณสองสามเดือน เธอได้เริ่มสร้างคอนเทนต์ของตัวเองบน TikTok เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน การย้ายงานไปที่ต่าง ๆ เทคนิคการต่อรองเงินเดือน และเรื่องการทำงานอื่น ๆ ที่หยิบเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีมาก ๆ

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงาน ภายในเวลาสามปีเธอเปลี่ยนงานมาแล้ว 5 ครั้ง และระหว่างที่เปลี่ยนงานก็จะเกิดคำถามในหัวว่าแต่ละอาชีพได้รายได้เท่าไหร่ พอไปถามคนรู้จักก็ไม่ค่อยมีคนอยากบอกเรื่องนี้สักเท่าไหร่

นั่นคือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างซีรีส์ของวิดีโอสั้นบน TikTok ที่ชื่อว่า “Salary Transparent Street” หรือ “ถนนแห่งความโปร่งใสของเงินเดือน” โดยเธอจะเดินไปถามคนแปลกหน้าบนถนนว่า “คุณได้เงินเดือนเท่าไหร่?” ซึ่งอย่างที่บอกมันเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ แต่ไม่มีใครกล้าถาม แต่วิลเลียมส์กล้าที่จะทำ

มันเป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะกับเทรนด์ “The Great Resignation” ที่กำลังเกิดขึ้นพอดีด้วย คนลาออก เปลี่ยนงาน ย้ายตำแหน่งกันเยอะ คอนเทนต์ที่สร้างจึงกลายเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กลายเป็นไวรัลบน TikTok และกลายเป็นจังหวะที่เธอต้องชั่งใจแล้วว่าจะคว้าโอกาสครั้งนี้เอาไว้ไหม จะจับปลาสองมือ ทำงานเต็มเวลาต่อไปพร้อมกับทำคอนเทนต์ หรือทุ่มสุดตัวไปกับโอกาสครั้งนี้เลย เธอเล่าว่า

“ฉันพอจะรู้แหละว่าบัญชีที่มีความสำเร็จเยอะขนาดนี้อย่างรวดเร็วน่าจะพอหาเงินได้ และก็พร้อมจะลองดูเหมือนกัน”

ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เธอและคู่หมั้นตัดสินใจลาออกจากงานแล้วมาเริ่มสร้างคอนเทนต์ตรงนี้อย่างเต็มตัว เปลี่ยนซีรีส์ Salary Transparent Street ของวิดีโอสั้น ๆ ที่ไปถามคนแปลกหน้าบนถนน ให้กลายเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง เดินทางไปกว่า 10 รัฐในอเมริกา สัมภาษณ์คนแปลกหน้าหลายร้อยคน จนสามารถได้ดีลกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ทำรายได้กว่า 600,000 เหรียญ หรือราว ๆ 20 ล้านบาทแล้ว


“ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่แย่ที่สุด”

หลังจากที่ยื่นซองขาวในเดือนมิถุนายน วิลเลียมส์บอกว่าที่จริงพร้อมที่จะออกไปผจญภัยครั้งใหม่หลายเดือนแล้ว สิ่งที่เธอรออยู่ไม่ใช่การพยายามชั่งใจหรือหาเหตุผลให้ตัวเองทำงานต่อไป แต่เธอรอแดเนียลส์ (Daniels) ซึ่งเป็นคู่หมั้นให้ลาออกมาช่วยในการถ่ายวิดีโอ เธอทำตรงนี้เองทั้งหมดไม่ได้

“ฉันพอจะเห็นแหละว่าสิ่งที่เราทำน่าจะเหมาะกับแบรนด์ดีลในตลาดเฉพาะกลุ่ม อาจจะต้องใช้เวลาสักสองสามเดือนที่จะทำตรงนี้ แต่ก็เป็นความเป็นไปได้เลย”

มันเป็นความเสี่ยงอย่างมากในการทิ้งรายได้แบบสม่ำเสมอและทุ่มไปกับบางอย่างที่ใหม่แบบนี้ รายได้ต่อเดือนของทั้งคู่ก็ถือว่าไม่น้อยรวม ๆ กันแล้วปีหนึ่งก็อยู่ราว ๆ 200,000 เหรียญ/ปี (6.7 ล้านบาท) แต่ทั้งคู่ก็เห็นตรงกันว่านี่เป็นโอกาสและถ้ามันสำเร็จก็จะสร้างรายได้ที่ดีกว่าเดิม แถมตอนนี้ทั้งคู่ก็ไม่ต้องผ่อนบ้าน ไม่มีลูก จังหวะชีวิตถือว่าค่อนข้างเหมาะ วิลเลียมส์บอกว่า

“ความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่แย่ที่สุด” เพราะถ้ามันไม่เวิร์กเธอก็ยังกลับไปทำงานเดิมได้หรือหาอะไรที่ใกล้เคียงกับของเดิม แต่ [สำหรับเธอแล้ว] สิ่งที่แย่ที่สุดที่จริงแล้วคือการไม่ได้ลองทำเลยต่างหาก”

ด้วยเงินเก็บ 10,000 เหรียญของทั้งคู่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Salary Transparent Street โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะทำให้มันเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางสังคมผ่านการพูดคุยเรื่องรายได้อย่างโปร่งใส (“equal pay through transparent conversations.”) เพราะทั้งคู่เชื่อว่า “แพชชั่นสำคัญกว่าก็จริง แต่เงินก็สำคัญไม่แพ้กัน และทุกคนก็ควรได้รับรายได้ที่เพียงพอไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม”

การออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างโปร่งใสในความเห็นของทั้งคู่จะช่วยปิดช่องว่างของรายได้ที่หลาย ๆ บริษัทพยายามซ่อนเอาไว้เป็นความลับ ไม่อยากให้บอกใคร เพราะเรื่องเงินถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เป็นเครื่องมือสำหรับการแข่งขันในตลาดกับบริษัทอื่น ๆ

พนักงานในตำแหน่งเดียวกันเห็นเพื่อนได้เงินเยอะกว่าก็อาจรู้สึกไม่พอใจ ลาออกหรือเปลี่ยนงาน บางคนอาจจะใช้มันเป็นเครื่องมือต่อรองกับบริษัทในการขอขึ้นเงินเดือนก็ได้ หรืออย่างในมุมส่วนตัว หลายคนไม่อยากแชร์เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีรายได้เยอะขนาดนั้น

แต่ความไม่โปร่งใสนี้ก็นำมาซึ่งปัญหา เพราะความไม่เท่าเทียมกันของรายได้พนักงานนั้น มาจากแค่ฐานที่ตั้ง ขนาดของบริษัท อายุและประสบการณ์ของพนักงาน ยังมีเรื่องของสีผิว ชาติพันธุ์และเพศด้วย รายงานจากเว็บไซต์ CNBC บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงผิวสีนั้นได้เงินน้อยกว่าผู้ชายผิวขาวประมาณ 17% และการปกปิดเรื่องรายได้ยิ่งทำให้ช่องว่างของรายได้นี้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ

วิลเลียมส์เล่าว่าเธอไปเจอบริษัทหนึ่งที่จ่ายเงินเดือนพนักงานปีละ 85,000 เหรียญ ในตำแหน่งที่บริษัทมีงบให้ 130,000 เหรียญ เพราะพนักงานคนนั้นเรียกมาแค่นั้น

นั่นคือสิ่งที่ทำให้วิลเลียมส์และแดเนียลส์รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก “มันทำให้ฉันโกรธมาก” เธอกล่าว “คุณมีงบอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าคุณสามารถจ่ายได้ มันบอกหลายอย่างเกี่ยวกับบริษัทเลย เพราะหลายคนไม่รู้ว่าต้องเรียกเงินเท่าไหร่ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนจึงจำเป็น เพื่อจะช่วยให้พนักงานสามารถหาข้อมูลทางตลาดก่อนที่จะเรียกเงินเดือน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ”

หลังจากทั้งคู่เริ่มทำอย่างจริงจังเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็เริ่มมีสปอนเซอร์เล็ก ๆ เข้ามา หลังจากนั้นวิดีโอก็มีคนดูหลักล้าน บริษัทอย่าง Fiverr, The Knot และ Cleo ก็เริ่มมาสปอนเซอร์ จนกระทั่งล่าสุดในเดือนกันยายน 2022 ก็มีสปอนเซอร์เจ้าใหญ่เข้ามา ทั้งคู่ตกลงเซ็นสัญญาระยะ 6 เดือนกับบริษัท Indeed แพลตฟอร์มสำหรับการหางาน ด้วยเงินประมาณ 500,000 เหรียญ


บทเรียนจากการออกมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เต็มเวลา

1. ต้องทำตลอดเวลา

การออกมาเป็นเจ้านานตัวเองเหมือนเป็นความฝันของทุกคน แต่มันก็มีด้านไม่ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ไม่หยุดนิ่ง เธอต้องทำงานตลอดเวลา ไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะงานคือชีวิตของคุณไปแล้ว ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตหายไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อย ๆ เธอก็บอกว่าอยากใช้เวลากับสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมากกว่า ไปทำงานเสาร์อาทิตย์ให้กับบริษัทที่เธอไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย

2. เบิร์นเอาท์ (Burnout)

การทำงานตลอดเวลานั้นไม่ได้หมายความว่างานจะเสร็จทุกอย่าง สุดท้ายสมองก็หยุดทำงานไปดื้อ ๆ เลย เธอกับคู่หมั้นต้องสร้างปฏิทินทำงานขึ้นมาเพื่อสร้างกรอบที่ชัดเจน ต้องหาเวลาหยุด ไปเดิน อ่านหนังสือ เพราะทำงานตลอดเวลาไม่ได้

3. คอมเมนต์ที่บั่นทอน

ไม่เพียงแต่การนั่งตอบคอมเมนต์เป็นเรื่องที่ใช้เวลาและพลังงานมหาศาลแล้ว บางทีไปเจอคอมเมนต์ที่บั่นทอน ด่าทอ พูดไม่ดี ใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้บั่นทอนจิตใจและพลังงานมาก ๆ จนสุดท้ายเธอก็ต้องรับพนักงานมาเพิ่มเพื่อดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ


คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังจะเปลี่ยนงานหรือหางานในปี 2023

เธอบอกว่าแน่นอนการจะออกมาทำคอนเทนต์ของตัวเองอย่างที่เธอทำนั้นไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าเธอเสี่ยงแล้วคนอื่นต้องเสี่ยงมาทำตามด้วย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น วิลเลียมส์แนะนำว่า

“ถ้าเราเกิดมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย มันก็หมายความว่าเราจะเสียเปรียบนิดหน่อยในตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นก็พยายามหาข้อมูลเยอะ ๆ และตัดสินใจโดยการชั่งน้ำหนักให้ดีที่สุด”

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทนอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ ๆ ตำแหน่งงานที่ไม่อยากทำ หรือไม่กล้าที่ขอขึ้นเงินเดือน แต่ขอให้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ในมือ หาเพิ่มเติมบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้วก็ค่อยต่อรอง

นอกจากนั้นแล้ววิลเลียมส์ยังแนะนำว่าควรมีแผนสำรองไว้เสมอเวลาจะทำอะไร อย่างตอนที่เธอลาออก เธอก็รู้ดีว่าถ้า Salary Transparent Street ไม่เวิร์กก็กลับไปทำงานเดิมได้อยู่ มันมีงานและโอกาสเยอะอยู่ที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณเปลี่ยนถ้าต้องการ เธอปิดท้ายว่า

“อย่ากลัวที่จะเสี่ยง แต่ขอให้มั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่หาข้อมูลมาเพียงพอแล้ว”


อ้างอิง

CNBC

CNBC

#HannahWilliams #แฮนนาห์วิลเลียมส์ #TikTok #คอนเทนต์ครีเอเตอร์ #ContentCreator #อาชีพคนทำคอนเทนต์ #เต็มเวลา #fulltime #ลาออกมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ #สร้างคอนเทนต์บนTikTok #อาชีพ #ทำงาน #SalaryTransparentStreet #ทำไมบริษัทไม่ยอมบอกเรื่องเงินเดือน #เงินเดือนเท่าไหร่ #งานนี้เงินเดือนเท่าไหร่ #คุณได้เงินเดือนเท่าไหร่