ในโลกของการเงิน เรามักจะได้ยินคำว่า "เก็งกำไร" และ "ลงทุน" อยู่เสมอ

ซึ่งแม้ว่าทั้งสองจะมีเป้าหมายปลายทางเพื่อผลตอบแทนเหมือนกัน แต่แนวคิด กลยุทธ์ ระยะเวลา และความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในนั้นแตกต่างกัน

เก็งกำไร : มุ่งเน้นไปที่การทำกำไรระยะสั้น อาศัยการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อจับจังหวะราคา ซื้อตอนราคาต่ำ ขายตอนราคาสูง เปรียบเสมือนการ "เล่นแร่แปรธาตุ" หวังผลตอบแทนที่รวดเร็ว

การลงทุน : มุ่งเน้นไปที่การสร้างผลตอบแทนระยะยาว เน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ มองหาบริษัทที่มีศักยภาพเติบโต ซื้อหุ้นและถือไว้ระยะยาว เปรียบเสมือนการ "ปลูกต้นไม้" รดน้ำ พรวนดิน รอคอยผลผลิตงอกงาม

ให้ลองนึกถึง ‘วัว’

ในหนังสือ ‘ตะแกรงร่อนหุ้น’ ของ ‘คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ’ หนึ่งในนักลงทุนแนว “VI” ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทยบอกว่า

“ถ้าถามผม ผมก็จะตอบว่า ให้นึกถึงวัวหนึ่งตัวครับ”

สำหรับนักเก็งกำไร เมื่อได้วัวที่น่าสนใจมา อาจจะเป็นสายพันธ์ุที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะนำไปชำแหละขายในตลาด บางทีได้ราคาดีหน่อย ก็ปล่อยไปทั้งตัวเลย แล้วก็ไปหาวัวตัวใหม่

วางแผนระยะสั้น หวังผลตอบแทนเร็ว เข้าแล้วก็ออก

แล้วนักลงทุนละ?

สำหรับนักลงทุนหลังจากคัดเลือกวัวที่คิดว่าดีที่สุดมาแล้วเอาไปเลี้ยงครับ

เลี้ยงเพื่อรีดนมมาดื่มบ้าง “นำนมไปพาสเจอร์ไรส์ใส่ขวดขาย ถ้าเลี้ยงดีๆ วัวตัวนั้นก็จะออกลูกออกหลานมาเต็มบ้านเต็มเมือง ตั้งฟาร์มโคนมได้เลย”

ประเด็นที่สำคัญคือ คุณวิบูลย์บอกว่า “เราก็ไม่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือตื่นตอนเช้า (เมื่อตลาดหุ้นเปิด) เพื่อไปหาซื้อวัวมาชำแหละขาย”

แล้วถ้าวัวมันไม่ดี?

ข้อดีของการเก็งกำไรอย่างหนึ่งคือเข้าเร็วออกเร็ว มีจุดตัดขาดทุนชัดเจน แล้วสามารถเดินหน้าหาวัวตัวใหม่ได้เร็ว แต่ความเสี่ยงก็สูงเช่นเดียวกัน

แต่การลงทุนแล้วเลี้ยงวัวที่ซื้อมาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ความเสี่ยงไม่มี ก่อนจะซื้อก็เชื่อในศักยภาพ มองหาวัวที่มีหน่วยก้านดี แข็งแรงและเติบโตไปได้เรื่อยๆ ในระยะยาว แต่เราต้องคอยตรวจเช็กเสมอว่ามันยังดีอยู่รึเปล่า

“แต่ถ้าวัวตัวที่ผมซื้อมา ผมคำนวณดูแล้วมันขี้โรค น้ำนมก็ไม่มี แถมยังเป็นหมันอีก ผมก็ต้องรีบจัดแจงปิดป้ายขายทันทีครับ ถึงแม้มันจะได้ราคาต่ำกว่าที่ผมซื้อมาก็ตาม ผมยอมเสียค่าโง่ครับ ดีกว่าเลี้ยงไว้เปลืองข้าวสุก (เงินทุน+เวลา+พลังงาน)”

การปล่อยวัวที่เลือกมาผิดไปไม่ใช่เรื่องไม่ดี ทุกคนไม่ว่านักลงทุนที่เก่งกาจแค่ไหนก็เคยเลือกวัวพลาดกันมาทั้งนั้น (ขนาดบัฟเฟตต์ยังเคยเลย) สิ่งสำคัญคือเราต้องอย่ายึดติดและปล่อยมือจากวัวตัวนั้นให้ได้

ส่วนวัวที่แข็งแรง ให้น้ำนมดี มีลูกมีหลาน ก็คอยทะนุถนอมกันไป ให้มันเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

สรุป

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเป็นนักเก็งกำไรหรือนักลงทุน เพราะเราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะอยู่ด้านไหนของเหรียญการเงินอันนี้

สิ่งที่ทุกคนที่อยากเข้ามาในตลาดหุ้นคือการ ‘รู้ตัวเอง’ ว่าเป็นนักลงทุนสไตล์ไหนและทำอะไรอยู่

นักเก็งกำไรมาทำฟาร์มวัวก็ไม่ได้ อกแตกตายก่อน เพราะรู้สึกคันไม้คันมือ

นักลงทุนจะให้ไปซื้อวัวตอนเช้ามาขายตอนบ่าย อาจจะหัวใจวายตายก่อนก็ได้ เพราะไม่ชอบความเหวี่ยงของราคาในตลาด

คุณเอ็ม - ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เจ้าของเพจ ‘ติดเล่าเรื่องลงทุน’) อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์มอนุพันธ์ไร้ศูนย์กลาง เคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า

===============

สมัยประถม ผมมีญาติห่างๆ คนนึงที่เปิดบ่อน บางครั้งผมมีโอกาสไปที่นั้นเพราะมันมีขนมให้ทานฟรีๆ

เหตุการณ์หนึ่งที่ยังจำได้เป็นอย่างดี วันนั้นมีวง poker ซึ่งยอดเงินที่เล่นกันนั้นเป็นหลักล้าน มีป้าคนนึง เสียเงินเยอะมาก แกให้ลูกน้องไปกดเงิน จนตู้แถวนั้นกดไม่ได้

หลังจากป้าเอาของทุกอย่างจำนำ จนหมดตัว ยอมแพ้ ไม่มีอะไรให้วางอีกแล้ว เงินก็กดไม่ได้แล้ว สุดท้ายต้องกลับบ้าน

สิ่งที่ผมเห็นหลังจากนั้นเป็นบทเรียนชั้นดีที่ยังจำขึ้นใจจนทุกวันนี้

หลังจากคุณป้าคนนั้นเดินออกไป นักพนันคนอื่นๆ เอาเงินที่ได้มากองรวมกัน และเริ่ม “แบ่งเงินกัน”

ในวงการพนัน คุณป้าคนนี้จะถูกเรียกว่า “หมู” และมีการทำเป็นขบวนการ มีคนชวนป้ามาเล่น เรียกว่าการ “เอาหมูมาเชือด”

ในวงทุกคน เป็นพวกเดียวกันหมด และตั้งใจจะกินคนคนเดียว ทั้งทำไพ่ ส่งสัญญาณ และทุกคน รวมทั้งคนที่พาหมูมาเชือด ก็จะได้ส่วนแบ่ง

ทำให้ผมเข้าใจถึงสัจธรรมที่ว่า

“ถ้าเราอยู่ในบ่อน แล้วเราไม่รู้ว่าเค้ากำลังรุมกินเงินใครกันอยู่ ‘เค้ากำลังรุมกินเงินเรา’ นั่นแหละ”

ในตลาดการเงินก็เช่นกัน ถ้าคุณเล่นอยู่ในตลาดการเงิน เช่นตลาดหุ้น และคุณกำลังเล่นหุ้นปั่น และขณะนั้นๆ คุณไม่รู้ว่า “เกม” ที่กำลังเกิดขึ้น ใครคุม ใครวางหมาก เค้ากำลังรุมกินเงินใคร ก็มีโอกาสสูงมากที่ “เค้ากำลังรุมกินเงินคุณ” นั่นแหละครับ

โลกการเงินไม่ได้สดใสขนาดนั้น ถ้าวันนี้คุณไม่พยายามเข้าใจ วันนึงคุณจะถูกทำให้เข้าใจ