ผ่านมาแล้ว 1 ปี กับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่สร้างผลกระทบทั่วทั้งโลก นอกจากความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิตของทหารและพลเรือนแล้ว ยังส่งผลกระทบก่อให้เกิดวิกฤติด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และมิติอื่น ๆ อีกมากมาย และแม้สงครามครั้งนี้อยู่ห่างไกลคนไทย แต่ที่จริงแล้วผลกระทบของมันก็สะเทือนเงินในกระเป๋าของเราไม่น้อย

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

- การส่งออก แม้สงครามครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกเพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปรัสเซียเพียง 0.4% แต่ไทยมีการส่งออกไปประเทศสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรรวมกันกว่า 10.4% ซึ่งสงครามครั้งนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทันที 1.3% ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มประเทศในยุโรป ทำให้มีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการไว้ 0.5%

การท่องเที่ยว ในช่วงเริ่มสงครามส่งผลกระทบนักท่องเที่ยว 2 กลุ่มได้แก่

1. นักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่มีประมาณ 4% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อเกิดสงคราม การคว่ำบาตรธนาคารรัสเซีย, การจ่ายเงิน VISA Master Card ถูกตัดขาด, ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลง ส่งผลให้ชาวรัสเซียที่เข้ามาไทยลดลง และไม่มีนักท่องเที่ยวจากยูเครนเลย

2. นักท่องเที่ยวชาวยุโรป ที่เข้ามาไทยประมาณ 16% ของนักท่องเที่ยวก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าของทางรัสเซีย ทำให้ต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น และเปลี่ยนใจไปท่องเที่ยวที่อื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า


วิกฤติเชื้อเพลิง

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานสำคัญของโลกทั้งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ 16.2% ของก๊าซที่ผลิตทั้งโลก และน้ำมันที่ผลิตได้ 12.1% ของน้ำมันทั้งโลก เมื่อเกิดสงครามก็ทำให้ไม่มีการส่งพลังงานออกมาทั้งจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามและมาตรการโต้ตอบของทางรัสเซียเอง จึงส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยราคาขยับสูงสุดไปอยู่ที่ 120 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 (ปัจจุบันอยู่ที่ 76 เหรียญต่อบาร์เรล) ส่งผลให้น้ำมันสำเร็จรูปในบ้านเราพุ่งขึ้นไปด้วย

โดยน้ำมันดีเซล ( ปตท.) ขึ้นสูงสุดไปอยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร จากการตรึงราคาจากรัฐบาล ถ้าไม่มีการตรึงราคา อาจพุ่งไปถึง 40-45 บาทได้

ส่วนราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ( ปตท.) ราคาสูงสุดอยู่ในช่วงเดือน มิถุนายน 2022 เช่นกัน ดังนี้

  • E85 สูงสุดอยู่ที่ 37.57 บาท/ลิตร ก่อนสงคราม 27.94 บาท/ลิตร ปัจจุบัน (14 มีนาคม 2023) ราคาอยู่ที่ 34.19 บาท/ลิตร 
  • E20 สูงสุดอยู่ที่ 44.04 บาท/ลิตร ก่อนสงคราม 34.64 บาท/ลิตร ปัจจุบัน (14 มีนาคม 2023) ราคาอยู่ที่33.74 บาท/ลิตร
  • Gasohol 91 สูงสุดอยู่ที่ 44.88 บาท/ลิตร ก่อนสงคราม 35.48 บาท/ลิตร ปัจจุบัน ( 14 มีนาคม 2023) ราคาอยู่ที่35.78 บาท/ลิตร
  • Gasohol 95 สูงสุดอยู่ที่ 45.15 บาท/ลิตร ก่อนสงคราม 36.15 บาท/ลิตร  ปัจจุบัน ( 14 มีนาคม 2023) ราคาอยู่ที่ 36.05 บาท/ลิตร

และจากราคาที่สูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ส่งผลทำให้ค่าครองชีพอื่น ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง และบริษัทขนส่งสินค้าก็มีการขึ้นราคาค่าบริการจากภาระค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น

เงินเฟ้อ

เศรษฐกิจในที่สงครามเกิดขึ้นนั้นมีความเปราะบาง ประเทศส่วนใหญ่พึ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ทำให้มีความต้องการทั้งพลังงานและสินค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นปี 2022 การมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามากระทบ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นทันที

ประเทศไทยเองก็มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 24 ปีนับตั้งแต่ปี 1998 (ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง) โดยในไตรมาส 3 เงินเฟ้อของไทยขึ้นไปแตะที่ 7.3% และค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปี 2022 อยู่ที่  6.1 % สูงขึ้นเกือบ 5% จากปี 2021 ที่มีค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีเพียง 1.2% เท่านั้น

โดยสินค้าสำคัญภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นได้แก่ สินค้าโลหะ ได้แก่ นิกเกิลและแพลเลเดียมที่เพิ่มสูงขึ้น 92% และ 59% จากปี 2021 ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ขึ้นราคาได้แก่ ข้าวสาลี เพิ่มขึ้น 74% จากช่วงสิ้นปี 2021 ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น สร้างภาระต้นทุนแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

ส่วนสินค้าจำเป็นโดยตรงของประชาชน ทั้งอาหาร อาหารกระป๋อง เครื่องปรุง บะหมี่สำเร็จรูป ซอสปรุงรส น้ำอัดลม นม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ปุ๋ย ฯลฯ ต่างก็พาเหรดกันขึ้นราคา

นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับดอกเบี้ยพื้นฐานเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ ซึ่งปกติไทยคงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ตั้งแต่ปี 2020 ก่อนจะปรับขึ้นมาเป็น 1.0% ในเดือนสิงหาคม 2022 และเพิ่มเป็น 1.5 % ในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย กระทบประชาชนที่มีหนี้กับสถาบันการเงิน

ราคาทองคำพุ่งทะยาน

เมื่อเกิดสงคราม ทรัพย์สินที่ผู้คนเก็บมากที่สุดก็ไม่พ้น #ทองคำ สงครามครั้งนี้ ก็ทำให้ราคาทองคำแท่งขึ้นไปแตะที่บาทละ 30,000 บาทในวันเริ่มสงคราม (24 กุมภาพันธ์ 2022) และขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่บาทละ 32,100 บาท ในวันที่ 9 มีนาคม 2022 ทั้งที่ช่วงเดือนมกราคม 2022 ราคาทองคำอยู่ราว ๆ บาทละ 28,000 -29,000 บาทเท่านั้น โดย ปัจจุบัน (17 มีนาคม 2023) บาทละ 31,250 บาท)

สงครามครั้งนี้บอกอะไร?

ภาวะสงครามส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง ความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ปัญหาเหล่านี้มนุษย์เราต่างเผชิญกันมาหลายครั้ง ทั้งสงครามโลก สงครามเย็น แม้กระทั่งสงครามโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเงินทุนสำรองกรณีฉุกเฉิน

ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคนคือการออมและเก็บเงินเหล่านั้นในที่ที่มีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากออมทรัพย์ ทั้งนี้เงินสำรองกรณีฉุกเฉินควรมีเพียงพอสำหรับใช้จ่ายยาวนาน 3-6 เดือน ตามความจำเป็นของแต่ละคน

นอกจากนั้นการป้องกันความเสี่ยงก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึง เช่น การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ รวมทั้งประกันที่ครอบคลุมเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทั้งโรคร้ายแรง วินาศภัย โรคระบาด การก่อการร้ายและภาวะสงคราม เพราะทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ โดยการซื้อประกันความเสี่ยง ควรซื้อตามกำลังที่มี ไม่วิตกกังวลมากเกินไป จนสร้างหนี้สินเพื่อป้องกันความเสี่ยง

การลงทุนในภาวะสงคราม

หากสงครามต้องใช้เทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสู้รบ การลงทุนก็จำเป็นต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ก็ควรย้ายการลงทุนมาอยู่ในสินทรัพย์ที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยสินทรัพย์ที่ควรลงทุนในภาวะสงคราม ได้แก่

  • พันธบัตรรัฐบาล ที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากรัฐบาลรับประกันการคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย
  • ทองคำ ขึ้นชื่อว่าเป็น Safe Heaven ที่ได้รับความนิยมสูงเพราะจับต้องได้ ไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย และราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด
  • เงินฝากออมทรัพย์ แม้จะได้ดอกเบี้ยต่ำแต่ก็มีสภาพคล่อง
  • หุ้นพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ หุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสงคราม เช่น หุ้นสินค้าอุปโภค หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลและยารักษาโรค หุ้นกลุ่มน้ำมันและพลังงาน เป็นต้น

แต่ภาวะสงครามหรือสถานการณ์วิกฤติส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้น ทำให้หุ้นและราคาของหน่วยลงทุนต่าง ๆ จะร่วงในช่วงเริ่มสงครามเพราะความกังวล แต่ระยะยาวมักจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ดังนั้นการลงทุนระยะยาวไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่ควรปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตั้งรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น และประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้อยู่เสมอ

สุดท้ายไม่ภาวะสงครามจะเกิดขึ้นไกลหรือใกล้ตัว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรกคือการมี #เงินสำรอง เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือช่วงที่เกิดความไม่แน่นอน และสิ่งสำคัญที่สุดที่จะลืมไม่ได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด คือการลงทุนกับตัวเอง หมั่นเติมความรู้ใหม่ ๆ และติดตามสถานการณ์ ข่าวสารรอบตัว รวมถึงดูแลสภาพร่างกายและสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการเผชิญกับทุกสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เขียนและเรียบเรียงโดย อติพงษ์  ศรนารา

#aomMONEY #สงคราม #รัสเซีย #ยูเครน #เงินเฟ้อ #น้ำมัน #พลังงาน #ค่าครองชีพ #การออม #การลงทุน #วิกฤติการเงิน #ทองคำ

อ้างอิง

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Russia-Ukraine-Impacts

https://www.pttor.com/th/oil_price

https://th.investing.com/commodities/crude-oil

https://www.bbc.com/thai/thailand-62174622

https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=12567

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewPolicyRate.aspx

https://xn--42cah7d0cxcvbbb9x.com

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/BOX_MPR/BOX2Q1_RusiaUkrain.pdf

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/grow-your-wealth/invested-during-the-war.html

https://www.advise-financial.com/what-to-do-with-your-investments-in-wartime/

https://www.stashaway.co.th/th-TH/r/what-to-do-with-money-during-inflation-war