“นายกฯ​ เซลส์แมน” คำนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากหลังจากการ ปาฐกถา Empowering Economy the Big Change ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมากล่าวหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

โดยย้ำว่าเขาขอเป็น “เซลส์แมน เบอร์ 1 ของ ประเทศไทย” เพี่อไปขายสินค้าดีๆ ของประเทศไทยในต่างประเทศ และขายความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้

เพราะฉะนั้นพอคนพูดถึง “นายกฯ​ เซลส์แมน” ภาพของ “นายกฯ เศรษฐา” ก็ผุดขึ้นมาทันที

ด้านล่างคือบทสัมภาษณ์และเนื้อหาจาก นิตยสารไทม์ (Time) สื่อใหญ่ที่มีภาพปก “นายกฯ เศรษฐา” ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2024 พาดหัวว่า “THE SALESMAN” ครับ

Thailand is open for business again

หลังจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อดีตนักธุรกิจอสังหาฯ​ วัย 62 ปี ได้เดินทางไปแล้ว 10 กว่าประเทศเพื่อพบปะผู้นำและนักลงทุนมากมาย ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ (งาน World Economic Forum) และอื่นๆ

โดยเป้าหมายของการเดินทางเหล่านี้คือเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาที่ประเทศไทย เบื้องต้นดูเหมือนกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment (FDI)) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบจากปีก่อน

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการลงทุนใหญ่ๆ ในประเทศไทยเกิดขึ้นโดย Amazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ากว่า 8,300 ล้านเหรียญ​ (เกือบ 300,000 ล้านบาท)

โดยนายกฯ เศรษฐา บอกกับนิตยสารไทม์ว่า “ผมอยากบอกทั้งโลกว่าประเทศไทยพร้อมทำธุรกิจอีกครั้งหนึ่งแล้ว”

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศแห่งรอยยิ้ม (Land of Smiles) แห่งนี้เหมือนถูกแช่แข็งจากความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ซึ่งนำไปสู่การยึดอำนาจโดยกองทัพไทยในการรัฐประหารปี 2014 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้กองทัพมีบทบาทนำในประเทศ

นิตยสารไทม์กล่าวว่า “ภายใต้การปกครองกึ่งทหารที่ดำเนินมาอย่างสับสนนานกว่าทศวรรษ เศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ชะงักงันในขณะที่ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น”

“ในปี 2018 ตามข้อมูลของ Credit Suisse Global Wealth Databook คนร่ำรวยที่สุด 1% ของประเทศไทยถือครองความมั่งคั่งถึง 66.9% (ในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 26.5%) ในขณะเดียวกัน ผู้คนหนุ่มสาวนับพันคนได้ออกมาชุมนุมในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ยุติการแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย โดยใช้ท่าทางเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อสภาพสุญญากาศทางประชาธิปไตยและการบริหารงบประมาณบกพร่อง”

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน เฉลี่ยต่ำกว่า 2% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีอัตราการเติบโตสูงกว่าสองถึงสามเท่า และแย่งชิงการลงทุนจากต่างประเทศจากประเทศไทยไปได้ค่อนข้างเยอะ

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของไทยต้องเผชิญปัญหาครั้งใหญ่ โดยตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นกลับมาเพียง 70% ของจุดสูงสุดในปี 2019 เท่านั้น

แกเร็ธ เลเธอร์ (Gareth Leather) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเอเชียของ Capital Economics กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เจอปัญหาหนักมากในแง่ของการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 แย่กว่าเกือบทุกที่ในเอเชียเลย”

คุณเศรษฐายอมรับอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความรุนแรงของสถานการณ์ตรงนี้ เขากล่าวว่าประเทศไทยกำลัง "ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ" ซึ่งต้องรับมือโดยตรง

ที่ผ่านมาเขาได้ลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา และวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิ์ เพื่อกระตุ้นการบริโภค

นอกจากนั้นก็ยกเลิกการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย และมีแผนจะขยายสิทธิ์นี้ไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ

นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ยังต้องการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ สุขภาพ และการเงิน ให้มากขึ้นด้วย มุ่งยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้นำทางการทูตระดับสูงสุดของจีน มาเจรจาในประเด็นที่ละเอียดอ่อนระหว่างสองประเทศคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เขาหวังว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชียและมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งกับจีน จะสามารถทำหน้าที่เป็น "สะพานเชื่อม" และ "พื้นที่ปลอดภัย" ระหว่างสองมหาอำนาจ พร้อมเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในระดับนานาชาติ ให้ประเทศไทยได้ ‘เฉิดฉาย’

แรงกดดันของ CEO ของประเทศ

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ คุณเศรษฐาก็เผชิญหน้ากับแรงกดดันหลายด้านและต้องสร้างผลงานให้ได้อย่างรวดเร็ว

“ความกดดันไม่ได้มาจากการที่เราเป็นที่สอง” เขาพูดถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา “ความกดดันมาจากความจำเป็นในการจัดการกับปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน นั่นแหละคือความกดดันที่ผมต้องเผชิญทุกๆ วัน”

เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่มีห้องนอนที่ทำเนียบรัฐบาล “ผมจะประชุมเช้าหรือดึกก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เยี่ยมมาก” เขาอธิบาย เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าการจราจรในกรุงเทพฯ นั้นติดขัดไม่น้อย การมีห้องนอนที่ทำเนียบรัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกและลดเวลาการเดินทางลงได้

นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เขายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย แต่ประเทศไทยยังไม่ผ่านงบประมาณแผ่นดินประจำปี เหตุการณ์ยืดเยื้อหลังการเลือกตั้งทำให้ทุกอย่างติดขัด นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่หวั่นว่าการแจกเงินสด 560,000 ล้านบาทจะกระตุ้นเงินเฟ้อ "ในฐานะซีอีโอของบริษัท คุณจะรู้ว่าคุณมีอำนาจจำกัด" เขากล่าว "แต่สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจมากที่สุดคือการขาดอำนาจที่นายกรัฐมนตรีมีอยู่"

นิตยสารไทม์ได้สอบถามเรื่องที่หลายคนสงสัยอย่างประเด็นคุณทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นคนคอยกำหนดทิศทางอยู่เบื้องหลัง แต่คุณเศรษฐาก็ปฏิเสธประเด็นนี้อย่างหนักแน่นว่าคนที่ตัดสินใจคือเขาไม่ใช่คนอื่น

แน่นอนว่าโฟกัสของ “นายกฯ​ เซลส์แมน” คือเรื่องการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งนิตยสารไทม์ก็แชร์ว่าสิ่งที่คนไทยหลายคนกังวลคือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาจจะถูกมองข้ามและทิ้งไว้ข้างหลังอีกรึเปล่า

จริงอยู่ที่รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานและสิทธิของคนรักร่วมเพศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสังคมและช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ประเด็นอื่นๆ ดูเหมือนจะถดถอยลง เช่นปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง หรือสิทธิ์ในการแสดงออกทางการเมือง แต่คุณเศรษฐาก็ยังยืนยันว่า "สิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างเป็นธรรม สิทธิในการได้รับการรับฟัง มีอยู่แล้ว"

ความเด็ดเดี่ยวของเขายังแสดงออกในนโยบายต่างประเทศด้วย เดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาได้พบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนที่ปักกิ่ง เพื่อมองหาโอกาสการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะโครงการ “แลนด์บริดจ์” (Landbridge) มูลค่า 3 พันล้านเหรียญในภาคใต้ เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทยระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและคมนาคมขนส่ง เพิ่มโอกาสการลงทุนสำหรับต่างชาติ

เมื่อถูกถามถึงความประทับใจต่อสีจิ้นผิง นายกฯ หยุดนิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า "ในฐานะผู้นำของโลก เขามีออร่าบางอย่าง ผมคิดว่าเขาต้องการค้าขาย เขาไม่คิดจะสร้างปัญหาอะไร ไม่ได้ต้องการสงคราม"

แต่สำหรับผู้นำอีกคนที่คุณเศรษฐาไปพบอย่าง ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) แห่งรัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคมและเชิญให้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ กลับความระแวงสงสัยในจากฝั่งอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนว่า "เราได้แสดงความกังวลอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลไทย เกี่ยวกับการกระทำและกิจกรรมของปูติน รวมถึงการรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุผล" แต่คุณเศรษฐาเองก็กล่าวว่า “เราไม่แทรกแซงอธิปไตยของประเทศอื่น"

ไทม์กล่าวว่า “สำหรับคุณเศรษฐาแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกว่า 1 ล้านคนที่เดินทางมาเที่ยวไทยทุกปีและใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อนั้นมีความสำคัญมากกว่า เขาได้เสนอให้ผู้ถือหนังสือเดินทางรัสเซียสามารถเข้าไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งยาวนานกว่าที่ชาวอเมริกันได้รับสามเท่า”

ประเด็นต่อมาที่ไทม์หยิบมาสอบถามคือเรื่องของธุรกิจผูกขาดในประเทศไทย โดยมองว่าเป็นที่รู้กันดีว่าประเทศไทยเป็นตลาดผูกขาดโดยมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือการขายเบียร์แบบ ‘small-batch’ ขนาดเล็กถูกห้ามในประเทศไทยภายใต้กฎหมายที่มีมานานหลายทศวรรษซึ่งคุ้มครองบริษัทครอบครัวขนาดใหญ่สองแห่งที่ผูกขาดตลาดมูลค่า 8,000 ล้านเหรียญถึง 90%

นอกจากนั้นก็มีบริษัทหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียวในการดำเนินธุรกิจปลอดภาษีที่สนามบินหลักของกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว จนสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจครอบครัวมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ขึ้นมาได้

ดันแคน แม็กคาร์โก (Duncan McCargo) ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศไทยจากมหาวิทยาลัย Singapore’s Nanyang Technological University กล่าวว่า "บริษัทระหว่างประเทศต้องการที่จะเข้ามาทำธุรกิจในภาคการสื่อสาร ภาคค้าปลีก ภาคเครื่องดื่ม แต่ทุกคนรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกยึดครองไปแล้วเป็นส่วนใหญ่"

ไทม์กล่าวว่า “แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ให้คำมั่นสัญญาในการลดอำนาจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เอาไว้ แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เขาได้รับการยืนยันให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐาก็เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยผู้นำของกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่สุดของประเทศหลายคนและแชร์ภาพจากงานนั้นบนแพลตฟอร์ม X”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามนายกฯ ก็ยังยืนยันว่ายังมีพื้นที่ให้ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติได้แบ่งส่วนแบ่งการตลาดกันอยู่

เราอาจจะเห็นข่าวคุณเศรษฐาเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อตำหนิพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพแบบไม่มีการนัดล่วงหน้า หรือแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่ไปแสดงคอนเสิร์ต Eras Tour ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์แทนกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายแล้วเขาจะถูกตัดสินจากประชาชนด้วยผลงานต่างๆ ที่เขาได้ลงมือทำ การตัดสินใจอันยากลำบากเพื่อยกระดับสังคม แม้ว่าจะต้องเสียการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนระดับสูงของเขาก็ตาม

“การปฏิรูปอย่างกล้าหาญคือสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการอย่างยิ่ง” ไทม์กล่าวสรุป

“จากการเป็น CEO ของบริษัทไปจนถึง CEO ของประเทศ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่มากมาย” เขากล่าว

และเช่นเดียวกับในห้องประชุม อำนาจไม่เคยแบ่งเท่าๆ กัน