ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการขั้นพื้นฐานในชีวิตของเราทุกคนล้วนจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำดื่ม หรือยารักษาโรค เพื่อให้มีชีวิตดำเนินต่อไปได้

ในโลกทุนนิยมที่การแข่งขันสูงและมักทิ้งคนที่ปรับตัวไม่ได้ แก่ชรา เจ็บป่วย ภาระชีวิตหนักอึ้ง หรือประสบเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตไว้ข้างหลัง บางครั้งการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือตกงานก็ช่วยทำให้คนเหล่านั้นผ่านพ้นช่วงวิกฤติของชีวิตไปได้ มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคม ไม่รู้สึกไร้ค่า และเมื่อเริ่มกลับมามีรายได้อีกครั้ง ก็แบ่งเงินบางส่วนในรูปแบบของภาษีเพื่อสนับสนุนให้รัฐช่วยคนอื่น ๆ ที่กำลังลำบากต่อไป

ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ที่รับรองว่าประชาชนทุกคนจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการดำรงชีวิตนั้นถูกพูดถึงและถกเถียงกันว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

นโยบายประกันรายได้พื้นฐานนั้นแตกต่างจากนโยบายรัฐสวัสดิการอื่น ๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะเป็นการให้เงินช่วยเหลือแบบ

(1) จ่ายทุกคน 

(2) จ่ายเป็นรายบุคคล 

(3) จ่ายเป็นเงินสด 

(4) จ่ายเป็นประจำ

(5) จ่ายโดยไม่ระบุเงื่อนไขการนำไปใช้ 

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติ 5 ประการนี้ส่งผลให้การออกแบบนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่เหมาะสมต่อบริบทของสังคมไทยทำได้ยาก อีกทั้งมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับประสิทธิผลของนโยบายเมื่อเทียบกับ ต้นทุนมหาศาลที่รัฐบาลต้องแบกรับ

บทความนี้ขอยกตัวอย่าง 2 ประเด็นที่มีส่วนทำให้นโยบายดังกล่าวยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

ประเด็นที่ 1 : จำนวนเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าใด

กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมามีนักวิจัยหลายท่านพยายามศึกษาถึงผลกระทบจากการทำนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในมิติต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของคน การทำงาน และสุขภาพ โดยโครงการวิจัยส่วนมากเป็นการทดลองระยะสั้นที่จำกัดอยู่เฉพาะในบางพื้นที่ มีเพียงโครงการ GiveDirectly ที่ทดลองให้เงินสมาชิกทุกคนจาก 44 หมู่บ้านในประเทศ Kenya ทุกเดือนเป็นระยะเวลา 12 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกินเวลานานที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แต่โครงการ GiveDirectly เพิ่งเริ่มขึ้นในปี 2017 ทำให้กลุ่มนักวิจัยประเมินผลได้เพียงในระยะสั้น เช่น การให้เงินช่วยเหลือในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ช่วยบรรเทาความหิวโหย การเจ็บป่วย และความหดหู่ได้ แต่ไม่มากนัก ขณะที่ผลการศึกษาในระยะยาวยังต้องติดตามกันต่อไป

ข้อสังเกตประการหนึ่งของโครงการ GiveDirectly คือกลุ่มนักวิจัยเลือกประเทศ Kenya ที่มีค่าครองชีพต่ำในการทดลอง โดยมอบเงินเพียง 0.75 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25 บาทต่อวันให้กับผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคน

ซึ่งเงินจำนวนนี้ต่ำกว่าค่าครองชีพขั้นต่ำของคนไทยที่วัดจากเส้นความยากจน (poverty line) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติอยู่พอสมควร โดยเส้นความยากจนระดับประเทศของไทยในปี 2021 อยู่ที่ 2,803 บาท/คน/เดือน หรือประมาณ 93 บาท/คน/วัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับรายจังหวัดจะพบว่าแตกต่างกัน สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในประเทศไทย โดยกรุงเทพฯ คือจังหวัดที่มีเส้นความยากจนสูงที่สุด (3,308 บาท/คน/เดือน หรือประมาณ 110 บาท/คน/วัน) ขณะที่เพชรบูรณ์คือจังหวัดที่มีเส้นความยากจนต่ำที่สุด (2,376 บาท/คน/เดือน หรือประมาณ 79 บาท/คน/วัน)

แม้ตัวเลข 79 กับ 110 บาท/คน/วัน จะฟังดูต่างกันไม่มาก แต่ต้องไม่ลืมว่าแนวคิดของนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือการจ่ายให้ทุกคนเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ตกหล่นจากสิทธิ (exclusion error) ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณราว 5,200-7,200 ล้านบาทสำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคนทุกเดือน

หากนำความต่างของเงินจำนวน 2,000 ล้านบาทในแต่ละเดือนมาคูณเป็นตัวเลขทั้งปีจะเท่ากับ 24,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออก (โครงการ TIPE) ซะอีก

การคำนวณหาจำนวนเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นรายจ่ายประจำก้อนใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งถ้ามากไปก็จะเบียดเบียนงบลงทุนของประเทศ แต่ถ้าน้อยไปก็ไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นกัน

ประเด็นที่ 2 : การจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นรายบุคคลดีกว่าหรือไม่

แนวคิดของนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าตั้งอยู่บนรากฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องมีรัฐบาลมาคอยกำกับ การจ่ายเงินช่วยเหลือจึงควรทำในระดับรายบุคคล และคนที่ได้รับเงินจะนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ ซึ่งแนวคิดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียจึงตอบยากว่าดีกว่าการจ่ายเป็นรายครัวเรือนหรือไม่ โดยจะขอยกตัวอย่าง 2 กรณี ดังนี้

1. สามีภรรยาที่อาศัยในบ้านหลังเดียวกัน

ครัวเรือนไทยในปัจจุบันไม่มากก็น้อยยังนิยมให้ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าและผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ส่งผลให้ผู้ชายมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่าผู้หญิง สะท้อนจากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labour force participation) ในปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 74.3% สำหรับผู้ชาย และอยู่ที่ 58.3% สำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ สัดส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีเพียง 40% ของผู้หญิงที่มีงานทำทั้งหมด เนื่องจากผู้ที่เป็นภรรยามักได้รับมอบหมายให้ดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุในบ้าน ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสามี

การจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นรายบุคคลจึงมีข้อดีตรงที่เงินจะตกถึงมือภรรยาที่ไม่มีรายได้โดยตรง ขณะที่สามีที่อยู่บ้านเดียวกันก็ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนเท่า ๆ กัน เปรียบเสมือนการส่งเสริมให้สังคมมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคนในครอบครัวพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามีแบ่งปันทรัพยากรในบ้านด้วยกันกับภรรยา และสมาชิกในครัวเรือนทุกคนมีความสุขดีอยู่แล้ว การจ่ายเงินช่วยเหลือรายบุคคลก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

2. เด็กวัยรุ่นที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่

การให้เงินช่วยเหลือแก่เด็กวัยรุ่นโดยไม่ผ่านพ่อแม่ถือเป็นการให้อิสระในการตัดสินใจและฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนการใช้จ่ายตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเด็กบางกลุ่มอาจนำเงินช่วยเหลือไปใช้ในทางที่ดี เช่น สมัครเรียนคอร์สออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มทักษะสำหรับการทำงานในอนาคต ขณะที่เด็กบางกลุ่มก็มีโอกาสนำเงินไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เล่นการพนัน หรือเล่นเกมออนไลน์จนไม่สนใจการเรียน

โดยผลการศึกษาเรื่องการเล่นเกมของเด็กไทยของสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.) พบว่าเด็กจำนวน 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเล่นเกมทุกวัน เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ซึ่งสร้างผลกระทบต่ออารมณ์ พฤติกรรม และผลการเรียนของเด็ก ซึ่งเด็กบางส่วนมีค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมสูงถึงเดือนละ 5,000 บาท หลายฝ่ายจึงกังวลว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ขาดวุฒิภาวะในการตัดสินใจจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาทางสังคมทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่

โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าการทำนโยบายให้เงินช่วยเหลือที่ตรงจุดและระบุกลุ่มเป้าหมายยังเหมาะสมกว่าการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแหที่พยายามจะช่วยทุกคน โดยเฉพาะในสภาวะที่รัฐบาลไทยกำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณเช่นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในประเทศไทยก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ควรเริ่มจากทดลองกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายให้รอบด้านก่อนนำไปใช้จริง

-----------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน : พิรญาณ์ รณภาพ

เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ้างอิง

  • งานศึกษาเรื่อง The Political Theory of Universal Basic Income โดย Juliana Uhuru Bidadanure [Link]
  • รายละเอียดเกี่ยวกับ Universal Basic Income จาก Stanford Basic Income Lab [Link]
  • รายละเอียดของโครงการ GiveDirectly [Link]
  • ข้อมูลเส้นความยากจนของไทย จาก website ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ [Link]
  • ข้อมูลเม็ดเงินลงทุนในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIPE) จาก website ของกรมประชาสัมพันธ์ [Link]
  • ข้อมูลอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน จาก website ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ [Link]
  • ผลการศึกษาเรื่องการเล่นเกมของเด็กไทย : สถานการณ์ความรับผิดชอบทางสังคมและข้อเสนอนโยบาย จาก website ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ [Link]